บทความ /

ปวดข้อมือมานานไม่หายสักที นี่คืออาการที่ต้องระวัง

ข้อมือ คือหนึ่งในอวัยวะที่ใช้งานสูงที่สุดในชีวิตประจำวัน ทุกกิจกรรมเรียกร้องการทำงานของข้อมือ และเนื่องจากข้อมือ เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง ซึ่งส่วน สำคัญที่ช่วยพยุงข้อต่อข้อนี้ของเราไว้ก็คือ เอ็นและกระดูกรอบๆ ข้อมือ การใช้งานในชีวิตประจำวันซำ้ๆ สามารถทำให้เอ็นและกระดูกส่วนนี้ได้รับบาดเจ็บได้ แม้ไม่เคยได้รับบาดเจ็บโดยตรงจากอุบัติเหตุ

อาการปวดข้อมือ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะอาการเจ็บข้อมือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งยังมีรายละเอียดมากมายไม่แพ้เครื่องยนต์กลไลของนาฬิกาข้อมือที่เล็กและละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นเราไม่ควรมองข้ามอาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ เพราะวิธีการรักษาในแต่ละสาเหตุก็ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมากเช่นกัน

โดยเฉพาะ อาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ ที่เป็นมานาน ไม่หายสักที คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะตามปกติเเล้ว อาการเจ็บปวดของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ควรจะหายเองได้หลังจากได้พักการใช้งาน หรือรับประทานยาลดปวด ลดอักเสบสักระยะหนึ่ง แต่หากอาการปวด หรือบาดเจ็บเหล่านี้ยังคงอยู่กับเรา ไม่บอกลาไปเสียที ย่อมบ่งบอกถึงปัญหาที่ต้องได้รับการวินิจฉัย และรักษาก่อนที่อาการเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการเจ็บข้อมือหรือไม่

ไม่ว่ากิจกรรมใดก็ตามที่ต้องการใช้งานข้อมือซำ้ๆในลักษณะเดิมๆ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เจ็บข้อมือได้ทั้งนั้น จะเเตกต่างกันก็ตรงที่ส่วนไหนจะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นเอง ซึ่งก็ขึ้นกับลักษณะของกิจกรรมที่ทำ แม้กิจกรรมเบาๆ ที่เราคิดไม่ถึงว่าเป็นสาเหตุได้เช่นการทำงานบ้านปกติ เล่นกีฬาที่เล่นเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการทำงานบนโต๊ะทำงานที่เราคิดว่าเเสนจะปกติก็ตาม ซึ่งถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นเหตุให้บางจุดเล็กๆ ในข้อมือเราเจ็บป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานหักโหมต่างๆ

เพศไหนมีโอกาสปวดข้อมือมากกว่ากัน

  • โดยส่วนใหญ่เราพบว่าผู้หญิงจะพบการปวดข้อมือได้มากกว่า เนื่องจากการทำงานบ้าน การทำงานฝีมือ ทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมที่ใช้มือต่างๆ 
  • สำหรับผู้ชาย มักจะเกิดอาการบาดเจ็บข้อมือจากการใช้ข้อมือผิดประเภท เช่น ทำสวน ทำงานช่าง โดยส่วนมากมักพบในผู้ที่ทำเป็นงานอดิเรก ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ซึ่งกลุ่มนี้เองที่มักใช้งานมือที่ผิดท่าทาง จนทำให้บาดเจ็บได้

ช่วงวัยที่พบอาการปวดข้อมือ

  • อาการเจ็บข้อมือ มักไม่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ด้วยความที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยังมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้ใช้งานหนัก หรือใช้ทำงานมากจนเกินไป
  • กลุ่มที่พบอาการปวดข้อมือได้มาก คือวัยทำงาน วัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้มือในการทำงานซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งมักเป็นการบาดเจ็บจากการใช้งานในชีวิตประจำวันมากๆ  หรือ เกิดจาดอุบัติเหตุ ซึ่งการบาดเจ็บ อักเสบนี้เกิดขึ้นได้กับทั้ง เส้นเอ็น เส้นประสาท และข้อต่อในข้อมือ
  • กลุ่มผู้สูงวัยจะมีอาการปวดข้อมือที่เกี่ยวข้องกับอาการข้อเสื่อม เช่น เอ็นเล็กๆ ข้างในข้อที่ฉีกขาด หรือเสื่อมสภาพ

อาการอาการปวดข้อมือ ถ้ามองในด้านกายภาพ จะพบว่าเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่ไม่น่ามีความสลับซับซ้อน แต่สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมือ จะมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดของพื้นที่เล็กๆ ที่กลับเต็มไปด้วยเส้นประสาท เส้นเอ็น ข้อต่างๆ มากมาย ทำให้การวินิจฉัยเรื่องอาการบาดเจ็บข้อมือจะต้องทำโดยละเอียด เพื่อการรักษาที่ตรงสาเหตุ

อาการปวดข้อมือ

อาการปวดข้อมือลักษณะต่างๆ

อาการปวดบริเวณข้อมือ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่าง การสำรวจตัวเองเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอาการแต่ละแบบอธิบายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ เช่น

  • อาการปวดข้อมือที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือในตอนที่ไม่ได้ใช้งาน
  • ไม่สามารถหยิบจับ หรือถือสิ่งของได้อย่างที่เคยเป็นมา
  • อาการปวดข้อมือที่ยังคงอยู่ แม้ว่าจะผ่านไปหลายวัน รวมทั้งพักการใช้งานแล้ว
  • เจ็บปวด หรือ ไม่สามารถยืดหรือเหยียดข้อมือได้ 
  • มีอาการเจ็บปวดบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น แขน มือ
  • มีไข้ บวม แดง ร้อน นอกเหนือจากปวดข้อ

เมื่อเริ่มมีอาการปวดข้อมือควรทำอย่างไร

อาการเจ็บข้อมือที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีอาการ โดยเริ่มต้นจะรู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการมักเป็นมากช่วงเช้า 

  • เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ ควรจะลดการใช้งานในท่าที่ทำให้เจ็บ 
  • การประคบอุ่นเบื้องต้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ 
  • ถ้าหากว่าอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการเจ็บปวดของเส้นเอ็นข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรังจะยิ่งยากต่อการรักษามากขึ้น 

ปวดข้อมือแบบไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการเจ็บปวดข้อมือ ที่ทำให้เคลื่อนไหวข้อมือไม่ได้ มีความเจ็บปวดมาก มีอาการชาตลอดเวลา มีอาการบวมมากขึ้น รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อย่างไข้สูง หรือแดง ร้อน ผิดสังเกต ควรรีบพบแพทย์ โดยไม่ต้องรอดูอาการ

โรคที่พบบ่อยเมื่อเจ็บข้อมือ 

อาการเจ็บปวดส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ส่วนเอ็นรอบๆ ข้อมือ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เอ็นอักเสบ และเอ็นฉีกขาด ซึ่งจะเป็นตรงจุดไหนก็ขึ้นกับลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ

นอกจากสาเหตุภายในส่วนประกอบของข้อมือแล้ว อาการเจ็บข้อมือ ยังอาจเกิดการเจ็บร้าวมาจากข้อศอก หรือปัญหาที่ข้อศอก หรือต้นเหตุจากปัญหาที่ต้นคอได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการปวด รวมถึงอาการเสียว ชา เหล่านี้ มักจะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อศอกหรือบริเวณอื่นใกล้เคียง แล้วแต่ว่าจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทเส้นไหน

เพราะฉะนั้น แม้ว่าข้อมือจะเป็นอวัยวะที่เล็ก แต่เป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อน ในหลายๆ ครั้งต้นเหตุของอาการปวดข้อมืออยู่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งโรคโดยทั่วไปบริเวณข้อมือที่พบบ่อย และทำให้เจ็บข้อมือ มีดังนี้

เอ็นอักเสบ

  • ส่วนมากเอ็นที่อักเสบ มักจะเป็นเส้นเอ็นยอดนิยม ซึ่งการวินิจฉัยไม่ยุ่งยาก การตรวจร่างกายก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ 
  • ส่วนเอ็นบางจุดที่ไม่ได้เป็นกันบ่อยๆ ทำให้มักถูกมองข้ามไป มักเป็นสาเหตุที่เจ็บเรื้อรังไม่หายสักที เส้นเอ็นที่อักเสบในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางด้านมือและข้อมือ หรืออาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยภาพวินิจฉัย (diagnostic imaging) ที่เหมาะสม

อาการเอ็นอักเสบที่พบบ่อย

เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ (De Quervain’s tenosynovitis)

  • เป็นโรคเอ็นอักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อมือทางฝั่งนิ้วหัวแม่มือ 
  • ถ้าลองคลำดูจะพบว่าจุดเจ็บจะอยู่เฉพาะที่ปุ่มนูนของข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง เนื่องจากเป็นการอักเสบของเอ็นนิ้วหัวแม่มือ 
  • การขยับเคลื่อนไหวนิ้วโป้งในบางทิศทางจะทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นมาทันที 
  • ภาวะนี้มักพบในกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือซำ้ๆ หรือกระดกข้อมืออยู่เป็นประจำ 
  • กลุ่มอาชีพที่พบบ่อยได้แก่ คนทำอาหาร ยกของ หรือคุณแม่อุ้มเด็กๆ 
  • แม้ว่าเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในการเจ็บบริเวณนี้ แต่ก็ยังมีภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ ดังนั้นหากพักการใช้งานเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการเจ็บอยู่ ควรมาให้แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัยเพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจะดีที่สุด

อ่านบทความเพิ่มเติม: เอ็นข้อมืออักเสบ เจ็บได้ หายได้ ถ้าดูแลรักษาให้ถูกวิธี

เส้นประสาทถูกกดทับ

  • เป็นอาการเจ็บปวดข้อมือแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งอาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ มักยากจะบอกได้ว่าเป็นจุดใดบริเวณใดชัดเจน 
  • นอกจากอาการปวดเเล้ว มักจะมีอาการชา ยุบยิบ เหมือนเป็นเหน็บ หรืออาจพบอาการแสบร้อนบริเวณมือร่วมด้วยได้เช่นกัน 
  • อาการจากเส้นประสาทถูกกดทับนี้วินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) ร่วมเมื่อจำเป็น

เส้นประสาทถูกกดทับที่พบบ่อย

กลุ่มอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)

  • เกิดจากเส้นประสาทในข้อมือถูกเอ็นพังผืดเบียดทับ 
  • ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง 
  • ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ เพราะว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีหลายอาการรวมกัน ทั้งปวด ทั้งชา บางรายเป็นคล้ายเป็นเหน็บ หรือบ้างก็แสบร้อน อาการอาจแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันสักทีเดียว ความรุนแรงของอาการก็อาจต่างกันได้ 
  • กลุ่มอาการนี้มักเกิดในคนที่ใช้มือซำ้ๆ เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร หรือมีกิจกรรมที่ข้อมืออยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น ขับรถ เขียนหนังสือ ใช้โทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งถือของ หิ้วของเป็นเวลานาน 
  • หากมีอาการมานานไม่ควรละเลย เพราะการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดนานๆ เส้นประสาทอาจจะเสื่อมได้ หรือกล้ามเนื้อที่มือก็อาจจะลีบ ส่งผลต่อการใช้งานของมือข้างนั้น

อ่านบทความเพิ่มเติม: การผ่าตัด รักษาอาการมือชา ที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ

ถุงน้ำที่ข้อมือ (Carpal Ganglion Cyst)

  • ภาวะอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้บริเวณข้อมือจากการใช้งานในชีวิตประจำวันซ้ำๆ หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จนเยื่อหุ้มข้อมือฉีกขาด ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงในข้อมือรั่วออกมาเกิดเป็นถุงน้ำโป่งออกมาให้เห็น 
  • ถุงน้ำนี้มักจะอยู่ในบริเวณหลังข้อมือ ซึ่งขนาดของถุงน้ำขนาดอาจจะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงบ้างบางช่วงเวลา แต่ก็จะไม่ขยายใหญ่จนเป็นอันตราย 
  • มีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 
  • หากมีอาการเจ็บไม่หายแม้ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้ว หรือมีความกังวลเรื่องความสวยงามและบุคลิกภาพ ก็สามารถผ่าตัดรักษาเพื่อทำให้ซีสต์ถุงน้ำนั้นหายไป

โดยสรุป อาการปวดข้อมือ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นหากมีอาการเข้าข่ายกับกลุ่มอาการต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว หรือมีอาการปวดข้อมือรุนแรง แนะนำให้มาพบปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Q&A

เมื่อเริ่มมีอาการปวดข้อมือควรทำอย่างไร ?

1. เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ ควรจะลดการใช้งานในท่าที่ทำให้เจ็บ
2. ประคบอุ่นเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้
3. ถ้าหากว่าอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการเจ็บปวดของเส้นเอ็นข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรังจะยิ่งยากต่อการรักษามากขึ้น

ปวดข้อมือแบบไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการเจ็บปวดข้อมือ ที่ทำให้เคลื่อนไหวข้อมือไม่ได้ มีความเจ็บปวดมาก มีอาการชาตลอดเวลา มีอาการบวมมากขึ้น รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อย่างไข้สูง หรือแดง ร้อน ผิดสังเกต ควรรีบพบแพทย์ โดยไม่ต้องรอดูอาการ

Fri, 12 Mar 2021
แท็ก
ปวดข้อมือ
เจ็บข้อมือ
Related doctors
Assoc. Prof. Thanapong Waitayawinyu, M.D.
Asst. Prof. Chinnakart Boonyasirikool, M.D.

Related packages
A minimally invasive surgery to relieve pressure on the median nerve in the wrist through a small incision. The procedure ensures that hand functionality remains unobstructed, resulting in fast recovery and full...
package 83,600* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
A surgical procedure to release finger’s tendon sheath, alleviating pain symptoms caused by Trigger Finger disease performed by a team of hand, wrist, and arm surgeons....
package 27,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
พังผืดทับเส้นประสาท
พังผืดทับเส้นประสาท โรคฮิตของคนใช้งานมือมากเกินไป ที่รักษาได้
“นิ้วล็อก” โรคยอดฮิต รักษาผิด เสี่ยงบาดเจ็บเพิ่ม
เจ็บข้อมือเรื้อรังไม่หาย ตรวจแบบส่องกล้องช่วยได้
รู้ยัง? เมื่อกระดูกข้อมือหัก ควรรักษากับ “หมอเฉพาะทางมือ”
top line

Login