บทความ /

กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม

การประสบอุบัติเหตุกระดูกหักนั้น สามารถเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกเมื่อแบบไม่คาดคิดได้เสมอ แต่ส่วนมากเราก็มักจะคุ้นเคยกับกับกรณีกระดูกขาและแขนหักมากกว่ากระดูกส่วนอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระดูกอีกส่วนหนึ่งที่พบว่ามีการหักได้บ่อยเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็คือ “กระดูกสะโพกหัก” โดยแม้การหักของกระดูกสะโพกจะไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิตในทันที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ดังนั้น การทำความรู้จักกับภาวะกระดูกสะโพกหัก จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเพื่อให้เราดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวที่รักให้ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น

กระดูกสะโพกหักคืออะไร รู้จักไว้จะได้สังเกตรู้เท่าทัน

กระดูกสะโพกหัก คือ ภาวะกระดูกหักบริเวณกระดูกต้นขาส่วนต้น ตั้งแต่คอกระดูกต้นขา Intertrochanteric Area ไปจนถึง Subtrochanteric area ซึ่งสาเหตุของการหักนั้นส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุ แต่ก็มีปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้หักได้ง่ายมากขึ้นรวมอยู่ด้วย โดยสามารถแบ่งกลุ่มคนไข้กระดูกสะโพกหักออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้

กลุ่มคนไข้อายุไม่มาก ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น อุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง เป็นต้น

กลุ่มคนไข้ผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย จึงทำให้เมื่อประสบอุบัติเหตุแม้ไม่รุนแรง หรือ Low-Energy Trauma  เช่นเพียงแค่ล้มเบา ๆ ในระยะยืน หรือยืนอยู่แล้วถูกชนล้มลงสะโพกกระแทกพื้น ก็เพียงพอทำให้กระดูกสักโพกหักได้แล้ว

กลุ่มคนไข้ที่กระดูกมีปัญหาอยู่แล้ว เป็นได้ทั้งคนที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุ แต่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ากระดูกสะโพกมีปัญหา เช่น มีเนื้องอกบริเวณกระดูกสะโพก ระบบการหมุนเวียนแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิดปกติ จากการทำงานของต่อมไร้ท่อหรือไตที่ผิดปกติ จนเป็นเหตุให้โครงสร้างกระดูกไม่แข็งแรง เมื่อประสบอุบัติเหตุ ถูกกระแทก ถูกชน กระดูกสะโพกจึงหักง่ายกว่าคนปกติ

อาการแบบไหน ต้องสงสัยว่ากระดูกสะโพกหัก?

เมื่อประสบอุบัติเหตุ ล้ม ถูกชน หรือ ถูกกระแทกนั้น หลาย ๆ คนอาจไม่คิดว่าจะรุนแรงถึงขั้นทำให้กระดูกสะโพกหักได้ ทั้งนี้ อาการสำคัญที่บ่งบอกว่าอาจจะมีกระดูกสะโพกหัก ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ มีดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวด บวม บริเวณสะโพกหรือขาหนีบ
  • ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรือเดินแล้วเจ็บ
  • หลังจากล้มลงมีอาการเจ็บสะโพกลุกขยับตัวไม่ได้
  • ในกรณีที่กระดูกสะโพกหักและรอยหักเคลื่อน จะพบว่ามีลักษณะขาผิดรูปสั้นลงแบบหมุนแบะออก
  • มีรอยเขียวช้ำ บริเวณด้านข้างสะโพก

วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เมื่อกระดูกสะโพกหัก

การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักโดยทั่วไปใช้การเอ็กซเรย์ ก็สามารถตรวจสอบได้อย่างแม่นยำแล้วประมาณ 90% จะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ร่องรอยจากภาพเอ็กซเรย์อาจไม่ชัด และต้องอาศัยการทำเอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ MRI ร่วมด้วย ซึ่งเมื่อผลการวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่ากระดูกสะโพกหัก แพทย์จะแนะนำทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยแบ่งแนวทางการผ่าตัดรักษาออกตามกลุ่มคนไข้ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มคนไข้อายุน้อย โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม ยึดให้กระดูกกลับมาติดต่อกันในตำแหน่งที่เหมาะสม
  • กลุ่มคนไข้สูงอายุ จะมีแนวทางการรักษา 2 วิธีด้วยกัน คือ การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่หักด้วยโลหะและการเปลี่ยนข้อสะโพก ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งการหัก ลักษณะการหัก และการเคลื่อนของกระดูกที่หัก
  • กลุ่มคนไข้ที่มีเนื้องอกหรือมีความผิดปกติด้านระบบเผาผลาญที่ทำให้โครงสร้างกระดูกผิดปกติ จะต้องสืบค้นหาสาเหตุก่อนว่ากระดูกสะโพกหักจากอะไร แล้วดำเนินการรักษาที่ต้นเหตุนั้น เช่นเนื้องอกกระดูกที่เป็นมะเร็งปฐมภูมิ ถ้าไม่ใช่อยู่ในระยะแพร่กระจาย จะผ่าตัดกระดูกที่มีเนื้องอกออก แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นอวัยวะเทียมมาทดแทนกระดูกต้นขาที่ตัดออก เป็นต้น

วิธีการผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ขั้นตอนในการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสะโพกหักด้วยโลหะนั้น แพทย์จะใช้เตียงพิเศษเพื่อช่วยดึงขาและจัดแนวกระดูกให้เข้าที่ ซึ่งโดยทั่วไปกว่า 80% สามารถผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่ได้โดยไม่ต้องเปิดแผลเข้าไปยังบริเวณที่กระดูกหัก ทำให้สามารถรักษาแบบผ่าตัดแผลเล็กได้ เว้นแต่ในคนไข้บางกลุ่มที่ดึงกระดูกแล้วไม่สามารถจัดแนวกระดูกเข้าที่ได้สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น แพทย์จะพิจารณาใช้แผลเจาะหรือเปิดแผลให้กว้างขึ้นเพื่อให้สามารถนำเอาเครื่องมือเข้าไปช่วยในการจัดกระดูกให้เข้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการรักษาและลดการเกิดการล้มเหลวของการยึดตรึงกระดูก เช่น เหล็กถอน เหล็กหัก

กระดูกสะโพกหัก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้หรือไม่?

ภาวะกระดูกสะโพกหัก ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้คนไข้เสียชีวิตในทันที แต่ในผู้สูงอายุ อาจเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการนอนติดเตียง อาทิ ปอดแฟบ ปอดอักเสบติดเชื้อ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดแผลกดทับบริเวณด้านหลังอันนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้ เป็นต้น หรือถ้าไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ก็อาจทำให้คนไข้ตกอยู่ในภาวะพิการ เดินไม่ได้ หรือเดินกะเผลกจากการที่กระดูกติดผิดรูปจนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนั้น สามารถลดลงได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

หลังผ่าตัดกระดูกสะโพก ดูแลพักฟื้นอย่างไรให้ปลอดภัยหายดี

การดูแลพักฟื้นหลังผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก ถือเป็นขั้นตอนสำคัญมากเพราะคนไข้จะหายดีกลับมาใช้ชีวิตเดินได้อย่างเป็นปกติเร็วมากแค่ไหน ไม่ใช่เพียงแค่การผ่าตัดที่เหมาะสม แต่ขึ้นอยู่กับการดูแลหลังผ่าตัดด้วยว่าทำได้ดีเพียงใด ซึ่งสามารถทำได้เป็นลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. หลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ ต้องทำการกระตุ้นร่างกายด้วยการขยับข้อเท้า ขยับขา ทั้ง 2 ข้างที่ผ่าตัด เพื่อลดภาวะส่งเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อย และเป็นอันตรายหากส่งเลือดเคลื่อนไปที่ปอด
  2. ตรวจสอบเฝ้าระวังภาวะซีด เนื่องจากเวลากระดูกสะโพกหัก จะมีการเสียเลือดภายในซึ่งเป็นเลือดที่ออกในบริเวณที่เกิดกระดูกหัก จึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นอันตรายได้ โดยถ้าพบว่าคนไข้มีภาวะซีดก็จะต้องมีการให้เลือดเพิ่ม
  3. หากวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัดสามารถคุมภาวะซีดได้แล้ว จะค่อย ๆ เริ่มเข้าสู่กระบวนการให้คนไข้ลุกนั่ง ซึ่งเมื่อลุกนั่งได้ไม่มีอาการเวียนศีรษะ จึงค่อยขยับไปสู่การฝึกนั่งแบบเต็มตัว นั่งห้อยขาแบบหลังไม่พิง
  4. เมื่อคนไข้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้นแล้ว จะเข้าสู่การฝึกยืน ซึ่งโดยทั่วไป 80-85% ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดจะอนุญาตให้ลงน้ำหนักได้ทันที ซึ่งเมื่อยืนได้แล้ว ก็จะค่อย ๆ ฝึกเดินโดยใช้ไม้เท้าพยุง 4 ขา หรือ Walker จนเมื่อเริ่มก้าวเดินได้ดี ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ทั้งนี้ หลังผ่าตัดกระดูกสะโพกคนไข้จะกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน แต่โดยเฉลี่ยแล้วหากร่างกายคนไข้ก่อนผ่าตัดแข็งแรงสมบูรณ์ ประมาณ 3-4 วันหลังผ่าตัดก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเมื่อกลับบ้านไปแล้วนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำแผลเพิ่มเติม แต่ต้องปิดแผลไว้ไม่ให้โดนน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไข้สูงอายุที่ใส่แพมเพิส ต้องระวังอย่าให้แผลเปื้อนปัสสาวะ และต้องดูแลรักษาเรื่องความสะอาดให้ดี

สรุป

กระดูกสะโพกหัก ถือเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับเราและคนในครอบครัว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่กระดูกจะเปราะบาง และมักมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเกิดอุบัติเหตุ ล้มสะโพกกระแทกเดินไม่ได้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที ผู้สูงอายุที่สะโพกหักและอยู่ติดเตียงนานไม่ได้ลุกยืนจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ และการกลับมาเดินได้ดังเดิมจะมีโอกาสลดน้อยลง นอกจากนั้นแล้ว ในการรักษากระดูกสะโพกหัก การผ่าตัดเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าผ่าตัดสำเร็จแล้วคนไข้จะหายป่วยกลับมาเดินได้เลยทันที แต่ต้องอาศัยการดูแลรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมด้วย รวมถึงคนไข้เองก็ต้องมีกำลังใจที่ดี ญาติและคนใกล้ชิดก็ต้องคอยสนับสนุนให้กำลังใจ ช่วยดูแลเรื่องการกายภาพบำบัดฟื้นตัวอย่างเต็มที่ด้วย จึงจะสามารถหายดีกลับมาใช้ชีวิตเดินเหินได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

บทความโดย ผศ.นพ.นรชาติ ศิริศรีตรีรักษ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุกระดูกและกล้ามเนื้อ

Thu, 21 Apr 2022
แท็ก
กระดูกสะโพกหัก
สะโพกหัก
Related doctors

Related packages
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line

Login