บทความ /

ท่าไม้ตายน้องเทนนิส (Hook Kick) จากอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หลัง และข้อสะโพกหลวม


โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข (KDMS) ขอแสดงความยินดีกับ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

นักเทควันโดหญิงขวัญใจชาวไทย สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาคนที่ 10 ที่คว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32

ทั้งนี้จากบทสัมภาษณ์ที่น้องเทนนิส ได้ให้ไว้กับ THE STANDARD เรื่องท่าไม้ตาย “ท่าตอกส้นเข้าท้ายทอย” (Hook Kick) ซึ่งเป็นท่าที่ทุกคนให้ความสนใจ และกล่าวถึงกันอย่างมากมาย โดยน้องเทนนิสให้สัมภาษณ์ว่าที่สามารถทำท่านี้ได้ดีเป็นเพราะเคยมีประวัติ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม” ซึ่งทำให้สามารถใช้ท่านี้ได้ในองศาที่เยอะ จึงกลายมาเป็นท่าไม้ตายของเธอ

ในบทความนี้ ทางโรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข มาให้ความรู้ในเรื่องของอาการ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม” ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีวิธีการรักษาอาการบาดเจ็บอย่างไร

“เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ”

เอ็นไขว้หลัง หรือ posterior cruciate ligament (PCL) เป็นเอ็นแกนสำคัญหนึ่งของข้อเข่า ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของข้อเข่า ทำหน้าที่ป้องกันการเคลื่อนที่ไปทางด้านหลังของกระดูกหน้าแข้ง ทำให้ข้อเข่ามั่นคง โดยการบาดเจ็บของเอ็น PCL นี้มักเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรงจากการกระแทกด้วยแรงทางหน้าเข่า (dashboard injury) หรือการบาดเจ็บในท่าเหยียดเข่าแล้วเกิดการแอ่นมากขึ้น (hyperextension injury)

การวินิจฉัยการบาดเจ็บของ PCL จำเป็นต้องอาศัยประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางรังสีเพิ่มเติม โดยหากพบว่ามีการแตกหักของจุดเกาะเอ็นร่วมด้วยและมีการเคลื่อนที่ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่แตกดังกล่าว แต่หากเป็นการบาดเจ็บของเอ็นโดยไม่มีกระดูกแตกหัก แพทย์ผู้รักษาจะทำการประเมินความรุนแรงและความหลวมของเอ็น PCL ดังกล่าว รวมทั้งประเมินการบาดเจ็บร่วมของโครงสร้างรอบๆ ข้อเข่า ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าข้อเข่า (MRI) เพิ่มเติม โดยการรักษาเอ็นไขว้หลังที่บาดเจ็บอาจทำโดยการใส่เฝือก การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงเอ็นไขว้หลัง หรือการผ่าตัดส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หลังใหม่ เป็นต้น

ในกรณีที่เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บเรื้อรังและมีการหลวม หากการหลวมของเข่าไม่มาก สามารถดูแลรักษาได้ด้วยการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า (quadriceps strengthening exercise) ร่วมกับการจำกัดการใช้งานข้อเข่าหากมีอาการปวด ซึ่งในบางครั้ง ผู้ที่มีเอ็นไขว้หลังหลวมอาจมีอาการปวดที่หน้าเข่าจากการปวดข้อกระดูกสะบ้า (patellofemoral pain) ได้ โดยผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หลังนี้ ควรได้รับการดูแลและประเมินอาการโดยแพทย์ ว่าเป็นการบาดเจ็บในระดับใดและสามารถใช้งานข้อเข่าในการออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด

“ข้อสะโพกหลวม”

ข้อสะโพกเป็นข้อที่รับน้ำหนักมากในร่างกายและเป็นส่วนเชื่อมต่อของแกนกลางของร่างกายกับรยางค์ส่วนล่าง โดยข้อต่อสะโพก จะให้การเคลื่อนไหวในองศาที่มาก ในหลายมุมการเคลื่อนที่ ดังเช่นในข้อไหล่ อย่างไรก็ตามการที่ข้อสะโพกทำหน้าที่มากก็จะสามารถเกิดปัญหาหรือความผิดปกติตามมาได้เช่นกัน

ข้อสะโพกหลวมสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ ข้อสะโพกหลวม (hip laxity) และ ข้อสะโพกไม่มั่นคง (hip instability) ซึ่งต่างกันตรงที่ “ข้อสะโพกหลวม” เป็นการที่ข้อสะโพกสามารถขยับได้ในองศาที่มากกว่าปกติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดหรือปัญหาจากการเคลื่อนไหว แต่ใน “ข้อสะโพกไม่มั่นคง” จะมีความหลวมของข้อสะโพกร่วมกับอาการผิดปกติ อาทิเช่น ข้อสะโพกเคลื่อนหลุดหรือมีอาการปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อสะโพก

ในกรณีที่ข้อต่อในร่างกายหลวมนั้น อาจทำให้เราสามารถขยับเคลื่อนไหวข้อในองศาที่มากกว่าปกติได้ และอาจเป็นข้อได้เปรียบในการใช้งานของข้อนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากกีฬาหลายชนิด เช่น การเล่นยิมนาสติก หรือในกรณีของ “ท่าไม้ตายของน้องเทนนิส” (Hook Kick) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามภาวะข้อหลวมก็อาจเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บของโครงสร้างรอบๆ ข้อต่อนั้นได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่ภาวะข้อต่อไม่มั่นคงได้ด้วย ผู้ที่มีข้อหลวมจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนกำลังกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อนั้น รวมถึงทักษะการใช้งานข้อต่อนั้นในหลายๆด้าน โดยเฉพาะความยืดหยุ่นและการฝึกฝนเส้นประสาทรับความเคลื่อนไหวของข้อ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อและป้องกันการบาดเจ็บรอบข้อได้

แต่ทั้งนี้อาการ “เอ็นไขว้หลังบาดเจ็บ” กับ “ข้อสะโพกหลวม”ไม่ควรปล่อยไว้นาน อาจเป็นอันตรายต่อข้อเข่า และข้อสะโพก และส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น คนไข้ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บได้อย่างถูกต้อง และป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

Sun, 01 Aug 2021
แท็ก
สะโพกหลวม
เอ็นไขว้หลัง
น้องเทนนิส
โอลิมปิกเกมส์

Related packages
Minimally Invasive Surgery for knee joint injuries, for example, Anterior Cruciate Ligament (ACL) injuries or other related knee joint diseases performed by sports medicine and shoulder surgeons...
package 298,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
Arthroscopic shoulder surgery to treat rotator cuff tear, shoulder osteoarthritis , or other shoulder-related diseases by a team of sports medicine and shoulder surgeons....
package 367,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line

Login