บทความ /

3 ยาแก้ปวด เลือกใช้ยังไงให้ถูกอาการ

เวลาเกิดอาการไข้ ปวดหัว ปวดตามเนื้อตัวตั้งแต่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ลามไปจนถึงกระดูก คุณมักเลือกใช้ยาแก้ปวดตัวไหนกันบ้างคะ

วันนี้ KDMS มีข้อสังเกตลักษณะอาการปวดที่แตกต่างกัน ที่จะช่วยให้คุณเลือกยาให้ถูกขนานและกินได้ถูกต้อง เพื่อแก้ต้นตอของอาการปวดได้อย่างถูกจุดค่ะ

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นยาสามัญประจำบ้านที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจของผู้ป่วยส่วนใหญ่เวลาปวดหัว มีไข้ และครั่นเนื้อครั่นตัว

ข้อควรระวัง

  • ห้ามกินยากันไว้ก่อนจะมีไข้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยาเกินขนาด ผู้ใหญ่ควรกินเว้นห่างกันทุกๆ 4 ชม. ในปริมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน
  • ห้ามใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกิน 5 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

ข้อควรระวัง

  • หากมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
  • หากใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีอาการแสดงของภาวะตับวายเจาะเลือดพบว่ามีเอมไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ  ซึม สับสน เสียชีวิตได้

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant)

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ออกฤทธิ์ช่วยลดการตึงตัว หดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่าอาการเส้นตึง เนื่องจากเวลาให้หมอนวดแผนโบราณจับเส้นกดจุดจะสัมผัสได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งตึงและหดเกร็ง นั่นเอง

มักพบบ่อยในคนวัยทำงานที่ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก ใช้งานผิดท่า หรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ จึงมีอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง และรู้สึกช้ำไปหมดทั้งตัว จนต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อช่วยบรรเทาอาการปวด สามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น  แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้  โดยมากมักใช้ในอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรหยุดใช้ยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ

ข้อควรระวัง

  • หลังกินยา ห้ามทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง ควบคุมเครื่องจักร  หรือขับขี่ยานพาหนะ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงและอาจเผลอหลับใน  ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการ ทำงานได้
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา

  • มึนงงและง่วงซึม
  • ปากและคอแห้ง
  • ท้องผูก

ยาแก้อักเสบ (NSAID, Non-steroidal anti inflammatory)

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรง ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หลังเกิดอุบัติเหตุมีแผลฟกช้ำ ปวดบวม หรืออาการเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม และยังสามารถใช้ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ และอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคกระเพาะ หรือผู้มีแผลในระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามกิน ‘ยาฆ่าเชื้อ’ (Antibiotic) แทน ‘ยาแก้อักเสบ’ เนื่องจากไม่ใช่ตัวยาเดียวกัน แต่คนมักสับสนจากชื่อ ที่จริงแล้วยาฆ่าเชื้อเป็น ‘ยาปฏิชีวนะ’ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถยับยั้งอาการอักเสบของเอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้อได้ และยาฆ่าเชื้อไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเพราะจะเกิดอาการดื้อยาได้ กลับกันก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบแทนยาฆ่าเชื้อเช่นกัน
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อาจใช้ได้ในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้นๆ โดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต

ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา

  • มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มักพบมากในผู้ที่กินยาเกินขนาด
  • เกิดผื่นคัน ผิวหนังลอก ใบหน้าและหนังตาบวมเป่งหากแพ้ยา
  • บวมน้ำ หรือน้ำหนักขึ้น
  • กัดกระเพาะ เกิดแผลและเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • ปวดท้องเนื่องจากเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร 
  • คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระสีดำ
  • ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ
  • การใช้ยากลุ่มนี้แม้ว่าในระยะสั้นก็อาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และมีปัญหากับไต ดังนั้นคงต้องติดตามความดันและการทำงานของไต

KDMS ขอแนะนำว่า ถ้าคุณรู้ตัวว่าแพ้ยาชนิดไหน ควรเขียนชื่อยาที่แพ้พกใส่กระเป๋าสตางค์ติดตัวไว้ตลอด สอดในซองเดียวกับบัตรประชาชนได้ยิ่งดี เผื่อเหตุฉุกเฉินกู้ภัยหรือพยาบาลจะได้ทราบข้อมูลสำคัญนี้ก่อนส่งตัวรักษา ถ้ายังมีสติจะต้องแจ้งพยาบาล และย้ำกับแพทย์ก่อนสั่งยาทุกครั้ง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของคุณได้

หากนำยาที่มีอยู่เดิมมาใช้ทุเลาอาการเอง ก็อย่าลืมตรวจสอบให้ดีว่ายาหมดอายุแล้วหรือยังทุกครั้งด้วยนะคะ ควรกินยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดเองสุ่มสี่สุ่มห้า เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ป่วยค่ะ 

หวังว่าทุกคนจะใช้ยาแก้ปวดทั้ง 3 ชนิดนี้ได้อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้นนะคะ

Thu, 22 Jul 2021
แท็ก
ยาแก้ปวด

Related packages
บทความอื่นๆ
top line

Login