การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
เมื่อพูดถึงการผ่าตัดรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม จริงๆ แล้วไม่ได้มีแต่การผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเทียมเพียงอย่างเดียว วงการแพทย์ได้พยายามใช้เทคนิคการผ่าตัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว
และก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ ข้อมูลรวมถึงผลลัพธ์จากการผ่าตัดเทคนิคต่างๆ ได้พิสูจน์แล้วว่า ‘การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม’ หรือ ‘Knee replacement surgery’ เป็นการผ่าตัดรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับ คนไข้โรคข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยจะช่วยแก้ไขอาการปวดเข่าจากความเสื่อม แก้ไขมุมขาที่ผิดรูป ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้งานเข่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ในบทความนี้จะอธิบายการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งการผ่าตัดโดยไม่เปลี่ยนข้อเข่าเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อให้เรามีความเข้าใจ และเลือกสิ่งที่สบายใจที่สุดกับตัวเอง ไปพร้อมๆ กับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางโดยตรง
Table of Contents
สำรวจตัวเอง อาการชี้วัดแบบไหนที่ควรผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม แต่ละคนมีอาการแตกต่างกันไป บางคนเป็นมากขณะที่บางคนเป็นน้อย ในวันนี้เราจะมาโฟกัสเฉพาะกลุ่มที่เริ่มมีอาการมากแล้ว ควรจะสังเกตอย่างไร ควรจะไปหาคุณหมอหรือยัง และเมื่อไหร่ที่มีโอกาสต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
เมื่อไหร่ที่ถึงเวลาควรพิจารณาผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม? คำถามนี้ตอบได้ด้วยหลักเกณฑ์ประกอบด้วย 4 อาการ ก็คือ ปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก, ความโก่งของเข่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ, มีความหลวมหรือความแอ่นของข้อเข่า และข้อเข่าเหยียดไม่สุด หรืองอได้น้อยลง
ปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก
คนที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม หรือรู้ตัวอยู่แล้วว่ามีแนวโน้มจะต้องผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ โดยดูความเจ็บปวดของข้อเข่าระหว่างที่เดินลงน้ำหนัก ถ้าหากเคยเดินได้ระยะไกลๆ แต่ปัจจุบันกลับเดินได้แค่ในระยะใกล้ๆ และมีอาการปวดเข่าที่มากขึ้น ก็เป็นสัญญาณของอาการที่รุนแรงขึ้น
ซึ่งอาการปวดของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับความอดทนที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นตัวคนไข้เองจะต้องเป็นคนประเมินว่าอาการเจ็บปวดหัวเข่าระดับไหนที่มากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะปรึกษาแพทย์และเตรียมพร้อมสู่การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
ความโก่งของเข่าที่เพิ่มมากขึ้น
ความโก่งของเข่าที่เพิ่มมากขึ้น ในบางกรณีเป็นปัญหามาตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่ได้มีความผิดปกติอะไร แต่ในกรณีขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการยืนอยู่หน้ากระจก วางส้นเท้าชิดติดกันเพื่อดูว่าเข่าของเราโก่งมากน้อยขนาดไหน ถ้าสังเกตเห็นว่ามีความโก่งมากขึ้นจากเดิม นับว่าเป็นสัญญาณอันตราย
มีความหลวมหรือความแอ่นของข้อเข่า
การสังเกตความหลวมหรือความแอ่นของเข่า ค่อนข้างสังเกตยาก แต่นับว่าเป็นอาการที่สำคัญสำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยว่าควรผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ เพราะความหลวมหรือความแอ่น มีความสัมพันธ์กับความโก่งของเข่าร่วมด้วย
สำหรับบางคนที่เข่าโก่งแต่เมื่อเดินลงน้ำหนักแล้วเข่าไม่โก่งเพิ่มขึ้น แสดงว่าโก่งแต่ไม่หลวม จะไม่ค่อยอันตราย แต่สำหรับบางคนที่เข่าโก่งและยังมีความหลวมหรือความแอ่นของเข่าร่วมด้วย บ่งบอกถึงความไม่สมดุลของข้อเข่าซึ่งมักจะโก่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ลองตรวจด้วยตัวเองโดยให้ยืนหน้ากระจกจะเห็นว่าขาเราโก่งปกติ จากนั้นให้ลองยืนขาเดียว อาจจะหาอะไรเกาะทรงตัวไว้ แล้วสังเกต ถ้าขาโก่งเท่าเดิม ความมั่นคงยังเหมือนเดิมก็จะไม่ค่อยอันตราย แต่ถ้าหากยืนขาเดียวแล้วขาโก่งและแอ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ยากที่จะแก้ไขให้หายถ้าไม่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเหยียดไม่สุด หรืองอได้น้อยลง
อาการลำดับสุดท้ายก็คือข้อเข่าเหยียดได้ไม่สุด ถ้าปวดเข่ามาก เวลาเหยียดเข่ามักจะมีกระดูกมาขัดด้านหน้าเข่า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ยิ่งถ้าหากงอเข่าได้น้อยลงเรื่อยๆ หรือถ้างอเข่าได้น้อยกว่า 90 องศาถือว่าเป็นสัญญาณที่อันตราย ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
สำหรับ kdms แพทย์จะรักษาด้วยการ ‘ไม่ผ่าตัด’ เป็นลำดับแรก ด้วยแนวทางการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การกินยา กายภาพบำบัด ออกกำลังกาย ในระยะ 3-6 เดือน ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้น ยังกลับไปใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ ให้นับว่ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมากขึ้น
อาการปวด, เข่าที่โก่ง, ความหลวมความแอ่นของเข่า และหัวเข่าที่เหยียดงอได้น้อยลงเรื่อยๆ คืออาการสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความจำเป็นในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยประกอบกับเอกซเรย์ เพื่อดูว่าข้อเข่าเสื่อมขนาดไหน มีกระดูกงอกขนาดไหน ผิวข้อของหายไปหรือยัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันความเสื่อมของข้อเข่าที่ชัดเจน และใช้ประกอบการวางแผนการรักษาและการผ่าตัดข้อเข่าในลำดับต่อไป
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การรักษาเพื่อลดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมวิธีที่ได้ผลค่อนข้างดี เหมาะสำหรับคนไข้ที่อายุยังน้อย หรืออายุต่ำกว่า 60 ปี ให้สามารถกลับไปใช้งานข้อเข่าได้เป็นปกติในระยะเวลาสั้นนั้นมีดังนี้
1) การผ่าตัดปรับมุมการรับน้ำหนักของข้อเข่า
เนื่องจากข้อเข่าในแต่ละข้างของมนุษย์เรามี 2 ซีก คือซีกด้านในและซีกด้านนอก โดยปกติเข่าที่ไม่มีความเสื่อมจะรับน้ำหนักตัวที่ผ่านลงมาโดยเข่าทั้งสองซีกเท่าๆ กัน แต่เข่าของผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะเริ่มมีความเสื่อมในซีกใดซีกหนึ่งก่อน ส่วนใหญ่แล้วเป็นซีกด้านใน (Medial) ของเข่า
โดยหลักการของเทคนิคนี้คือ การปรับแนวการรับน้ำหนักของข้อเข่าจากซีกเข่าที่มีความเสื่อม ให้น้ำหนักไปลงซีกเข่าที่ปกติแทน ความเสื่อมของผิวข้อยังอยู่ตำแหน่งเดิม แต่น้ำหนักร่างกายจะไม่ลงมากดทับในตำแหน่งที่เสื่อมอีก ช่วยลดอาการปวดได้ดี ซึ่งการที่จะเปลี่ยนมุมของขาได้ เทคนิคการผ่าตัดต้องมีการตัดกระดูก ส่วนใหญ่มักเป็นกระดูกหน้าแข้ง และมีการปรับมุมของกระดูก จากนั้นต้องมีการใส่เหล็กดามยึดกระดูกที่ถูกตัดนั้น
ข้อดี – การผ่าตัดโดยการตัดเปลี่ยนมุมกระดูก ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่มีการใส่ข้อเทียมซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดที่ระยะเวลาหนึ่งเข้าไปในร่างกาย จึงเหมาะสมในผู้ป่วยอายุน้อย (อายุต่ำกว่า 60 ปี) ที่ยังต้องการใช้งานเข่ามากๆ อยู่
ข้อเสีย – ส่วนข้อเสียของการผ่าตัดปรับมุมการรับน้ำหนัก ผลของการรักษาด้อยกว่าวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
2) การส่องกล้องเพื่อล้างข้อเข่าและตบแต่งร่องรอยความเสื่อมในข้อเข่า
ปัจจุบันวิธีนี้มีความนิยมน้อยลงมาก เนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้ช่วยให้อาการปวดดีขึ้นเพียงเล็กน้อยและชั่วคราว ทั้งยังมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากการส่องกล้องผ่าตัดไม่สามารถแก้ไขความโก่งงอ ผิดรูปของข้อเข่าได้ และหากข้อเข่ามีความเสื่อมสึกหรอมาก การส่องกล้องไปล้างหรือกรอกระดูกก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขความผิดปกติของข้อเข่าในระดับนี้ได้
ในปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องเทคนิคนี้ จึงมักจะทำร่วมกับการผ่าตัดปรับมุมกระดูก หรือทำในคนอายุน้อย ที่มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนขนาดเล็ก และรอยโรคเฉพาะที่เท่านั้น ไม่เหมาะกับโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีการเสียหายของกระดูกเป็นวงกว้าง รุนแรง หรือมีรอยโรคหลายตำแหน่ง
ข้อดี – แผลมีขนาดเล็ก เพราะผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดน้อย
ข้อเสีย – การล้างข้อเข่าและตบแต่งร่องรอยความเสื่อม ช่วยแก้ไขอาการได้ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อข้อเข่าเสื่อมจนกระดูกเสียหายมากขึ้น คนไข้จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอีกครั้ง
การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือการผ่าตัดเพื่อนำกระดูกผิวข้อเข่าที่มีโรคความเสื่อมออก และทดแทนโดยการใส่อุปกรณ์ข้อเข่าเทียม ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด แก้ไขการผิดรูปของข้อเข่าได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันวงการแพทย์ยอมรับกันว่าการผ่าตัดข้อเข่าเทียมถือเป็นการผ่าตัดที่ช่วยแก้ไขอาการเจ็บปวด ติดขัด ขาโก่งผิดรูปที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ดีที่สุด และพบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดให้ดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดอย่างชัดเจน
และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการพัฒนาข้อเข่าเทียมไปอย่างมาก ทั้งรูปแบบของข้อเทียม วัสดุที่ใช้ทำข้อเทียม และเครื่องมือช่วยผ่าตัด เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Surgery) โดยเฉพาะความปลอดภัยของข้อเข่าเทียมต่อร่างกาย ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นผ่านการรับรองมาตรฐานสากล
ข้อเข่าเทียมนั้นจะใช้วัสดุทำมาจากโลหะผสมไทเทเนียม (titanium) และโคบอลต์โครเมียม (cobalt chromium) ส่วนตรงกลางที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเทียม เป็นวัสดุที่ทำมาจากพลาสติกโพลีเอทีลีน (polyethylene) ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยต่อร่างกาย และมีอายุการใช้งานยาวนานมาก กว่าที่อุปกรณ์จะสึกหรอ (ขึ้นกับศัลยแพทย์ เทคนิคความแม่นยำในการผ่าตัด สภาพร่างกายของคนไข้ และสภาพการใช้งานข้อเข่าของแต่ละคน)
ในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee replacement)
- การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทุกส่วนของข้อ ทดแทนผิวกระดูกอ่อนที่มีความเสื่อมหรือมีรอยโรคทั้งหมด
- ข้อเทียมที่นำมาใส่จะมีขนาดเท่ากับข้อเข่าโดยธรรมชาติของผู้ป่วย
- เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่เหมาะกับคนไข้ที่ผิวข้อเสียหายมากหลายตำแหน่ง, มีเข่าโก่งผิดรูปอย่างชัดเจน หรือมีการเสียความมั่นคงของเส้นเอ็นยึดข้อเข่า โดยเฉพาะเอ็นไขว้หน้าเข่าร่วมด้วย
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ จะแก้ไขได้ทุกความผิดปกติของข้อเข่า
- หลังจากทำการผ่าตัดชนิดนี้ ข้อเข่าที่ผิดรูปโก่งงอจะกลับมาตรงตามแนวแกนการลงน้ำหนักทันที ไม่มีความกังวลเรื่องอาจมีความเสื่อมของข้อเข่าส่วนที่เหลือในอนาคตอีกต่อไป
2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน (Partial knee replacement)
- ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยมีความสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณบางส่วนของผิวข้อ
- ความเสียหาย หรือความเสื่อมของข้อเข่า มักจะเริ่มต้นเกิดกับฝั่งด้านในของข้อเข่าเป็นส่วนใหญ่ (อาจมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีลักษณะขาโก่งเข้าด้านใน ซึ่งมีความเสื่อมที่ผิวกระดูกด้านนอกข้อเข่าก่อน)
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงสามารถเลือกทำการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนได้
- ข้อเข่าเทียมแบบเฉพาะส่วนนี้จะมีขนาดเล็ก ขนาดไม่ถึงครึ่งหนึ่งข้อเข่าธรรมชาติ
- ข้อดีของการผ่าตัดรูปแบบนี้คือ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อที่ถูกผ่าตัดน้อยกว่าแบบการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งข้อเข่า, ขนาดแผลเล็กกว่า, เสียเลือดน้อยกว่า, เจ็บปวดน้อยกว่า, ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงเล่นกีฬาได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งข้อเข่า
- หากสามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำในผู้ป่วยที่เหมาะสมแล้ว จะมีอายุการใช้งานของข้อเทียมได้นาน ไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบทั้งข้อได้เช่นกัน
สำหรับคำถามที่มักมีข้อสงสัยกันมากก็คือ หากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนแล้ว บริเวณที่ไม่ได้เปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะเกิดความเสื่อมจนต้องมาผ่าตัดอีกครั้งหรือไม่?
ซึ่งข้อมูลจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนในปัจจุบันพบว่า เข่าซีกที่ไม่ได้เปลี่ยนข้อเข่าเทียม เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี มีคนไข้เพียง 5 คนจาก 100 คนที่มีความเสื่อมเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์โอกาสที่น้อยมาก หรือราว 5% เท่านั้น
kdms เลือกใช้ ‘ข้อเข่าเทียม’ ให้คนไข้อย่างไร
วัสดุที่บริษัทต่างๆ เลือกใช้ในการผลิตข้อเข่าเทียมในปัจจุบันนี้ ต้องเรียกว่ามีความคล้ายคลึงกันในทุกบริษัท ดังนั้นปัจจัยที่ศัลยแพทย์จะเลือกใช้ข้อเข่าเทียมในการผ่าตัดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต แต่จะคำนึงถึงความชำนาญ ประสบการณ์การใช้งาน การออกแบบของข้อเทียม และเทคโนโลยีช่วยในการวางตำแหน่งข้อเทียมแบบต่างๆ
โดยเฉพาะที่ kdms ทีมศัลยแพทย์ชำนาญการของเราพิถีพิถันในการเลือกข้อเทียมให้กับคนไข้อย่างมาก เพื่อให้คนไข้ของเราได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
ข้อเข่าเทียม มีน้ำหนักเท่าไหร่ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วน้ำหนักขึ้นเยอะไหม
ข้อเข่าเทียม ประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 2 ส่วน ส่วนที่เป็นโลหะ มีจำนวน 2 ชิ้น (ฝั่งทางด้านกระดูกต้นขา และฝั่งทางด้านกระดูกหน้าแข้ง) และส่วนที่เป็นพลาสติก อยู่ตรงกลางระหว่างโลหะทั้งสองฝั่ง
- น้ำหนักของข้อเข่าเทียมขึ้นอยู่กับขนาดเข่าของร่างกาย
- ข้อเข่าที่มีขนาดใหญ่ก็ถูกทดแทนด้วยข้อเข่าเทียมที่มีขนาดใหญ่ไปด้วย
- น้ำหนักของข้อเข่าเทียมมีค่าเฉลี่ยประมาณ 509 กรัมในเพศชาย และ ประมาณ 345 กรัมในเพศหญิง
จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวของคนไข้เพิ่มมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า การผ่าตัดต้องมีการตัดส่วนของกระดูกและเนื้อเยื่อในข้อเข่าบางส่วนออกด้วย เมื่อหักลบกับน้ำหนักข้อเทียมแล้ว แม้จะผ่าตัดพร้อมกันทั้งสองข้างน้ำหนักก็อาจจะเพิ่มเข้ามาประมาณไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมเท่านั้นเอง
โดยสรุป การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งแบบไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หรือแบบเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ต่างมีผลลัพธ์ของการรักษาและการแก้ไขปัญหาอาการข้อเข่าเสื่อมได้ดีเยี่ยม
ซึ่งหัวใจสำคัญของ kdms คือการตรวจประเมินคนไข้ของเราอย่างละเอียด ทั้งยังนำความต้องการและเป้าหมายการผ่าตัดของคนไข้มาประกอบในการพิจารณาแนะนำรูปแบบการผ่าตัดรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างผลสำเร็จในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
คำถามที่พบบ่อยเมื่อต้องผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
Q: อะไรคือข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจต้องวินิจฉัยเพิ่มเติมกับศัลยแพทย์ เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ แต่โดยหลักๆ แล้วข้อห้ามที่พึงระวังคือ
● การติดเชื้อในข้อเข่าที่เพิ่งหาย น้อยกว่า 6 เดือน หรือยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการติดเชื้อในข้อเข่าได้หมดไปแล้ว
● ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง ลีบ หรือไม่ทำงานเนื่องด้วยสาเหตุใดก็ตาม
Q: ‘ข้อเข่าเทียม’ ทำมาจากอะไร
เป็นธรรมดาที่เราต้องมีข้อสงสัย เมื่อต้องมีการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเข้ามาไว้ในร่างกาย KDMS เข้าใจความกังวลนี้จึงจะขอนำเสนอรายละเอียดของ ‘ข้อเข่าเทียม’ เพื่อช่วยคลายข้อสงสัย และมั่นใจในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้เต็มร้อย
ข้อเข่าเทียมที่ใช้ในการผ่าตัดปัจจุบันมีหลากหลายบริษัท ซึ่งทุกแบรนด์ทุกประเทศผู้ผลิตจะมีรูปแบบเหมือนกัน ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือส่วนที่เป็นโลหะสังเคราะห์ และส่วนที่เป็นพลาสติกพิเศษ
ข้อเข่าเทียมส่วนที่เป็นโลหะสังเคราะห์
◌ ข้อเข่าเทียมส่วนที่เป็นโลหะจะถูกครอบฝังไปที่กระดูกบริเวณหัวเข่าคนไข้สองฝั่ง
◌ ผลิตจาก ไทเทเนียม หรือโคบอลต์-โครเมียม ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มีคุณสมบัติทนทาน พื้นผิวเรียบลื่น
◌ สามารถฝังติดกับผิวกระดูกตามธรรมชาติของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
◌ สำหรับผลิตภัณฑ์บางแบรนด์ อาจปรับให้พื้นผิวโลหะมีความทนทาน เรียบลื่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำไปเคลือบสารต่างๆ หรือผ่านกรรมวิธีที่ทำให้โลหะมีพื้นผิวที่เปลี่ยนแปลงไป
พลาสติกพิเศษที่ใช้ระหว่างผิวโลหะสังเคราะห์
◌ วัสดุพลาสติกพิเศษจะใช้อยู่ระหว่างผิวโลหะทั้งสองฝั่ง
◌ ผลิตจากสารโพลีเอธิลีนโมเลกุลสูง (ultra high molecular weight polyethylene)
◌ มีคุณสมบัติทานต่อการขีดข่วน และรองรับน้ำหนักระหว่างการใช้งานได้ดี