บทความ /

รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง

นักกีฬาคือหนึ่งในอาชีพที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนัก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการปะทะ การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่นกีฬาได้ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนที่เล่นกีฬาเป็นอาชีพแล้วนั้น การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางอาชีพโดยตรง โดยอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้กลับมาเล่นกีฬานั้น ๆ ไม่ได้อีกเลยก็ได้ ทั้งนี้ ในกลุ่มของคนที่แม้ไม่ได้เล่นกีฬาเป็นอาชีพ แต่ชื่นชอบที่จะเล่นกีฬาเป็นประจำก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน โดย “ข้อเข่า” ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บบ่อย และมีความเสี่ยงบาดเจ็บรุนแรงที่สุด ซึ่งคนเล่นกีฬาทุกคนควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

5 โรคเข่ายอดฮิต ที่เกิดจากการเล่นกีฬา

เนื่องจากในการเล่นกีฬาแทบทุกชนิด จะต้องใช้เข่าในการเคลื่อนไหว กระโดด วิ่ง เปลี่ยนทิศทางและความเร็วอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับข้อเข่าได้จึงมีสูง และรูปแบบของอาการบาดเจ็บก็มีหลากหลายแตกต่างกัน โดย 5 โรคข้อเข่ายอดฮิตที่พบได้บ่อยในนักกีฬาและคนที่ชอบเล่นกีฬาเป็นประจำนั้น มีดังต่อไปนี้

1.เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นเอ็นที่ทำหน้าที่หลักในการป้องกันการเลื่อนหรือการบิดหมุนของข้อเข่า ซึ่งจะเกิดอาการบาดเจ็บได้ในกรณีที่เข่าได้รับการบิดหมุนรุนแรง หรือถูกกระแทกอย่างหนักจนบิดแอ่น ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าขึ้น ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวอาจพบร่วมกับการบาดเจ็บของหมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนข้อเข่า รวมถึงเส้นเอ็นรอบข้อเข่าอื่น ๆ อาทิเช่น เอ็นไขว้หลัง (posterior cruciate ligament) เอ็นด้านในเข่า (medial side injury) และเอ็นด้านข้างข้อเข่า (lateral side injury) ได้ โดยอาการสำคัญเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ในระยะแรกจะพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่ามากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรืออาจพอเดินลงน้ำหนักได้ได้ แต่เข่ามีอาการปวดและบวมรุนแรง

วิธีการรักษา

แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยก่อนว่าเอ็นไขว้หน้าขาดจริงหรือไม่ ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงเพื่อยืนยันว่าไม่มีอาการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นร่วมด้วย บ่อยครั้งแพทย์จะทำการส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าข้อเข่า (MRI) เพิ่มเติม ทั้งนี้หากพบว่าเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดอย่างเดียวโดยไม่ได้มีอวัยวะอื่นบาดเจ็บร่วมด้วย ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา ก็อาจสามารถดูแลรักษาได้ด้วยการไม่ผ่าตัด คือให้ลดกิจกรรม รับประทานยา และทำกายภาพบำบัดจนอาการปวดบวมดีขึ้น ก็อาจสามารถกลับไปใช้งานข้อเข่าได้โดยอาจมีอาการเข่าหลวม ลั่นหรือคลอนในบางจังหวะการใช้งาน แต่หากเป็นนักกีฬาที่ต้องการกลับไปใช้งานข้อเข่าในการเล่นกีฬาหรือผู้ที่ต้องการใช้งานข้อเข่ามาก มักจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อ “ส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่” ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่ นิยมใช้การปลูกย้ายเอ็นส่วนอื่น ๆ ของผู้ป่วยเองมาทดแทน เช่น เอ็นหลังข้อเข่า (Hamstring) เอ็นลูกสะบ้า (Bone-patellar tendon-bone) หรือเอ็นเข่าที่อยู่เหนือลูกสะบ้า (Quadriceps) เป็นต้น ซึ่งเอ็นหลังข้อเข่าเป็นเอ็นที่ได้รับความนิยมสูงสุด สำหรับระยะเวลาในการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

การดูแลหลังผ่าตัด

การดูแลหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า หากผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าโดยไม่มีการบาดเจ็บของเอ็นหรือโครงสร้างอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้ไม้เท้าค้ำช่วยเดินหลังผ่าตัดจนกว่าจะหายเจ็บ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะสามารถเดินลงน้ำหนักได้อย่างเต็มที่ แต่ใน 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด จะเน้นการฝึกเรื่องการเหยียดงอเข่าให้สุด เหยียดเข่าให้ตรง ร่วมกับการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการเกิดกล้ามเนื้อลีบฝ่อ ในช่วง 3-5 เดือนหลังผ่าตัด จะเน้นการฝึกออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ เช่น การวิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ และในเดือนที่ 5-6 จึงสามารถเริ่มกลับมากระโดดหรือกลับไปเล่นกีฬาเบา ๆ ได้ ภายหลังการประเมินและความยินยอมจากแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาก่อน ทั้งนี้การกลับไปเล่นกีฬา (return to play) นั้นจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10 เดือนหลังผ่าตัด

2.หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด

หมอนรองข้อเข่า มีหน้าที่ในการรับแรงกระแทก กระจายแรงที่เกิดขึ้นในข้อเข่า มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยวอยู่ในเข่าระหว่างกระดูกเข่าทั้งสองชิ้น ทั้งสองฝั่ง คือ ด้านในและด้านนอก โดยการฉีกขาด มักเกิดจากการบิดเข่า เข่ากระแทก หรือลงน้ำหนักอย่างแรง  ผู้ป่วยที่หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด มักจะมีอาการเข่าบวม ปวดเข่า โดยเฉพาะบริเวณตำแหน่งแนวผิวข้อเข่า ทั้งนี้ หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด อาจเกิดร่วมกับเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บร่วมด้วยได้

วิธีการรักษา

แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่วนใหญ่จะทำการส่ง MRI เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่า โดยหากมีการฉีกขาดขนาดมากกว่า 8-10 มิลลิเมตร มักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมแซม เนื่องจากหมอนรองเข่าที่ฉีกขาดขนาดใหญ่จะไม่สามารถหายได้เอง หากไม่ผ่าตัดซ่อมแซมอาจนำนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อม และเสี่ยงบาดเจ็บเพิ่มเติมที่ข้อเข่าได้ ปัจจุบันการผ่าตัดเย็บซ่อมหมอนรองข้อเข่า จะใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเข้าไปเย็บซ่อมในบริเวณที่มีการฉีกขาด โดยหากการฉีกขาดมีความรุนแรงมากหรือสภาพของหมอนรองเข่านั้นไม่สามารถเย็บซ่อมได้ แพทย์จะทำการตัดแต่งหมอนรองเข่าที่ไม่สามารถซ่อมได้ออกเพื่อลดการขัดหรือล็อคในข้อเข่า

การดูแลหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเหยียดเข่า โดยมักจำเป็นต้องเดินค้ำไม้เท้าประมาณ 4-6 สัปดาห์ จึงจะเริ่มให้ลงน้ำหนักได้เต็มที่ หลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือนจึงเริ่มวิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำได้ และผู้ป่วยมักจะสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าร่วมด้วย ก็จะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นดูแลนานขึ้นตามการดูแลผู้ป่วยที่เอ็นไขว้หนาฉีกขาด

3.กระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บ

กระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บ มักพบได้ 2 แบบ คือ เกิดจากการกระแทกโดยตรงจนเกิดการแตกหัก ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมข้อเข่าภายหลังได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่า และอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นกระดูกอ่อนที่แตกจากภาวะที่กระดูกอ่อนมีการแตกหลุดร่อนเองโดยที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บที่ชัดเจน เรียกว่า “osteochondritis dissecans (OCD)” ซึ่งมักเจอได้ในนักกีฬาเช่นกัน รวมถึงยังมีโอกาสเจอได้ในช่วงอายุน้อยประมาณ 10-20 ปี ซึ่งอาจมีอาการปวด บวม หรือ เข่าล็อคได้ เป็นต้น

วิธีการรักษา

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำ MRI เพื่อยืนยันการวินิจฉัยก่อน หลังจากนั้นถ้าเป็นการแตกหรือบาดเจ็บของกระดูกอ่อนข้อเข่าเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะสามารถรักษาด้วยการให้รับประทานยา และหยุดพักการใช้งานข้อเข่าประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่หากมีการบาดเจ็บหรือแตกหักรุนแรง มีการหลุดของกระดูกอ่อนชิ้นใหญ่ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่ง และขนาดของกระดูกอ่อนที่บาดเจ็บ โดยการผ่าตัดรักษานี้มีทั้งการผ่าตัดส่องกล้อง ร่วมกับการเจาะรูกระดูกใต้กระดูกอ่อนให้มีเลือดออก (microfracture) เพื่อให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเพื่อเข้าไปวางโครงสร้าง (scaffold) ให้กระดูกอ่อนสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ รวมถึงยังสามารถผ่าตัดแบบเปิดแผลเข้าไปย้ายกระดูกอ่อนตำแหน่งอื่นที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน มาแทนตำแหน่งที่บาดเจ็บได้ด้วย (Osteochondral transplantation) ส่วนในกรณีของกระดูกอ่อนข้อเข่าบาดเจ็บที่เกิดจากโรค OCD การรักษาก็จะคล้ายกันกับกลุ่มที่เกิดการบาดเจ็บ คือหลังจากการได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะประเมินความรุนแรง ขนาดและตำแหน่งของรอยโรค และจะพิจารณาผ่าตัดรักษาบริเวณที่มีความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งหากความรุนแรงน้อย เช่น กระดูกอ่อนปริแตกอาจใช้การรักษาด้วยการใส่สกรูเข้าไปยึดชิ้นกระดูกที่กำลังจะหลุดร่อนไม่ให้เกิดการแตกหลุดร่อนออกมา หรือผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปเจาะรูเพื่อให้กระดูกอ่อนมีการซ่อมแซมตัวเอง รวมถึงวิธีการผ่าตัดอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

การดูแลหลังผ่าตัด

มักจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อเดินประมาณ 4-6 สัปดาห์ ร่วมกับการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า หลังจากผ่าน 3 เดือนจะเริ่มฝีกกำลังกล้ามเนื้อได้มากขึ้น ตลอดจนเริ่มออกแรงข้อเข่าเบา ๆ ได้ และประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด จึงกลับมาเล่นกีฬาได้ตามปกติ

4.อาการปวดหน้าข้อเข่า ที่เรียกว่า Jumper Knee

เป็นโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อยในนักกีฬา หรือคนเล่นกีฬาที่ต้องมีการใช้ข้อเข่าในการกระโดดหรือสปริงตัวเยอะ ๆ เช่น นักบาสเก็ตบอล นักฟุตบอล นักกรีฑา นักแบดมินตัน และนักเทนนิส เป็นต้น โดยอาการของโรคจะเป็นอาการปวดและอักเสบเรื้อรังบริเวณเอ็นสะบ้า ซึ่งผู้ป่วย Jumper Knee จะมีอาการปวดเจ็บบริเวณหน้าหัวเข่า เจ็บตรงบริเวณลำของเอ็นสะบ้า หรือบางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณเอ็นเหนือสะบ้า รวมทั้งปวดในลูกสะบ้าก็ได้ ทั้งนี้ การอักเสบของเอ็นสะบ้าเป็นได้ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง

วิธีการรักษา

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงอาจเอกซเรย์ข้อเข่าเพิ่มเติม การรักษาจะใช้การรับประทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด จัดกิจกรรมการใช้ข้อเข่าให้เหมาะสม ฝึกออกกำลังกายเพื่อยืดเอ็นต่าง ๆ รอบข้อสะบ้าโดยเฉพาะเอ็นเหยียดเข่า (Quadriceps) และ เอ็นข้างเข่า ITB (iliotibial band) รวมถึงการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่าให้แข็งแรง ซึ่งผู้ป่วยจะกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติก็ต่อเมื่อหายจากอาการเจ็บปวดดีแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น จึงหายปวดและกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ

5.ภาวะลูกสะบ้าหลวม

ภาวะลูกสะบ้าหลวม ไม่เพียงพบได้ในนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องความหลวมของเอ็นได้ด้วย ซึ่งมักเจอได้บ่อยในคนที่เคยได้รับบาดเจ็บจนสะบ้าหลุด หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นหลวมอยู่เดิม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียวบริเวณหน้าหัวเข่า หรืออาจมีประวัติลูกสะบ้าหลุดออกไปด้านนอกแล้วได้รับการรักษาจนกลับเข้าที่

วิธีการรักษา

การวินิจฉัยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้การเอกซเรย์ข้อเข่าเพิ่มเติม แต่ในบางกรณีก็อาจจะต้องทำการตรวจ MRI ร่วมด้วยเพื่อดูร่องรอยของอาการบาดเจ็บตลอดจนประเมินความรุนแรงและการบาดเจ็บร่วม การรักษานั้นสามารถทำได้สองวิธีหลัก คือ

รักษาแบบไม่ผ่าตัด

แพทย์จะประเมินว่ามีความเสี่ยงที่สะบ้าจะหลุดซ้ำมากน้อยเพียงใด หากโครงสร้างของกระดูกข้อเข่าไม่ได้ผิดปกติมากนัก รวมถึงผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานข้อเข่ามากนัก ก็จะเน้นรักษาเบื้องต้นด้วยการฝึกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดเข่า ชื่อ VMO (Vastus Medialis Oblique) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเหยียดเข่า ที่อยู่ด้านหน้าเข่า โดยวิธีการฝึกกำลังกล้ามเนื้อดังกล่าวที่นิยม ได้แก่ การปั่นจักรยาน การทำสควอท เป็นต้น ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อ VMO แข็งแรงขึ้นก็จะช่วยดึงให้เอ็นด้านในสะบ้า (medial patellofemoral ligament, MPFL) ตึงตัวขึ้นได้ และช่วยลดโอกาสสะบ้าหลุดซ้ำได้

รักษาแบบผ่าตัด

ในกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีโอกาสสะบ้าหลุดซ้ำบ่อย และหรือผู้ที่เป็นนักกีฬาที่ต้องทำกิจกรรมในการใช้ข้อเข่ามาก ก็จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดสร้างเอ็นสะบ้าด้านในขึ้นใหม่ ซึ่งเรียกว่า MPFL reconstruction คือเป็นการรักษาคล้าย ๆ กันกับการทำเอ็นไขว้หน้าใหม่ แต่ต่างกันตรงที่เป็นการทำเอ็นด้านในข้อสะบ้าแทน ซึ่งก็จะใช้เอ็นของคนไข้จากที่อื่นย้ายมาทำเอ็นเส้นใหม่เช่นกัน โดยที่นิยมใช้จะเป็นเอ็นหลังเข่า (Hamstring) หรือเอ็นเหยียดเข่า (Quadriceps) ทั้งนี้หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีโครงสร้างกระดูกรอบข้อเข่าที่ผิดปกติด้วย อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการตัดปรับแนวกระดูก (osteotomy) ในส่วนที่เป็นปัญหาได้เช่นกัน  

การดูแลหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดรักษาภาวะสะบ้าหลวม ด้วยการทำ MPFL reconstruction ผู้ป่วยจะสามารถเดินลงน้ำหนักได้ทันทีหากไม่มีอาการปวด แต่อาจจะต้องใส่อุปกรณ์พยุงเข่า (hinge knee brace) เอาไว้เพื่อป้องกันการงอเข่าในบางมุม ป้องกันการหลุดซ้ำในช่วงหนึ่งเดือนแรก และภายหลัง 1 เดือน ผู้ป่วยจะต้องเริ่มฝึกเพื่องอเข่า และค่อย ๆ กลับไปใช้งาน ออกกำลังกายข้อเข่าเบา ๆ ได้ภายใน 3 เดือน รวมระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือนหลังผ่าตัด ก็จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ

ป้องกันดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคข้อเข่าจากการเล่นกีฬา

ตราบที่ยังเล่นกีฬาอยู่เป็นกิจวัตร หรือเป็นอาชีพ โอกาสที่ข้อเข่าเราจะได้รับการบาดเจ็บก็ยังคงมีอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ เราก็สามารถดูแลตัวเอง และลดโอกาสเสี่ยงบาดเจ็บได้ ด้วยการฝึกร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อให้พร้อม รวมถึงสภาพจิตใจก็ต้องพร้อมด้วยเช่นกัน เพราะหากร่างกาย จิตใจ กล้ามเนื้อไม่พร้อม ความคล่องตัวในการเล่นกีฬาไม่ดี โอกาสที่จะถูกปะทะ เกิดอุบัติเหตุได้ก็มีสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ในการเล่นกีฬา ก็ควรเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสม ในสนามที่ได้มาตรฐาน ไม่ลื่น ไม่ขรุขระ เพราะสภาพสนามที่ไม่สมบูรณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้ข้อเข่าเป็นอันตรายและได้รับบาดเจ็บได้

โรคข้อเข่าในกลุ่มนักกีฬาและคนเล่นกีฬา ถือเป็นสิ่งที่คนเล่นกีฬาทุกคนควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะได้สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวเข่าได้อย่างทันท่วงที โดยหากพบอาการผิดปกติ ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ ไม่ควรฝืนเล่นกีฬาต่อไปทั้งที่มีอาการผิดปกติอยู่ เพราะอาจส่งผลเสียต่อข้อเข่าได้ ทำให้ต้องรักษาตัวยาวนาน และเสียโอกาสในการใช้ชีวิต ในการประกอบอาชีพกีฬาที่รัก ซึ่งเราจำเป็นต้องตระหนักไว้ด้วยเสมอว่า อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อเข่านั้น สามารถเกิดร่วมกันได้หลาย ๆ โรค เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ร่วมกับหมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรืออาจมีกระดูกอ่อนแตกร่วมด้วย หากยิ่งปล่อยไว้ อาการบาดเจ็บก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น การปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้เรากลับมามีข้อเข่าที่แข็งแรง กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เคลื่อนไหวข้อเข่าและทำกิจกรรมได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

Tue, 15 Feb 2022
แท็ก
เอ็นไขว้หน้าฉีก
หมอนรองเข่าฉีก
กระดูกอ่อนเข่าบาดเจ็บ
ปวดหน้าข้อเข่า
ลูกสะบ้าหลวม

Related packages
Minimally Invasive Surgery for knee joint injuries, for example, Anterior Cruciate Ligament (ACL) injuries or other related knee joint diseases performed by sports medicine and shoulder surgeons...
package 298,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
Arthroscopic shoulder surgery to treat rotator cuff tear, shoulder osteoarthritis , or other shoulder-related diseases by a team of sports medicine and shoulder surgeons....
package 367,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line

Login