บทความ /

ข้อเข่าอักเสบ ปัญหารบกวนที่เกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม

“ข้อเข่า” เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หลักในการรองรับน้ำหนักของร่างกายที่กดทับลงมาอยู่เกือบตลอดเวลา เช่น การนั่ง การยืน หรือการเดิน ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าอักเสบ หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ล้วนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและขัดขวางการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น อาการขัดเมื่อปรับเปลี่ยนท่าทาง หรือความรู้สึกเจ็บตึงที่ข้อเข่า เป็นต้น นอกจากนี้ ความผิดปกติดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนระยะแรกของโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอีกด้วย

Table of Contents

ข้อเข่าอักเสบ คืออะไร?

ข้อเข่าอักเสบ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม กล่าวคือ เมื่อข้อเข่าถูกใช้งานอย่างหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลให้กระดูกอ่อนข้อเข่าที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของร่างกายบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการเสียดสีหรือการสึกหรอตามช่วงวัย ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเนื้อเยื่อที่เสียหาย โดยการลำเลียงเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาวมายังบริเวณข้อเข่า ก่อให้เกิดการสะสมของเซลล์อักเสบ และกระตุ้นให้เยื่อบุข้อเข่าสร้างของเสียที่มีคุณสมบัติเป็นของเหลวออกมามากขึ้น ส่งผลให้ข้อเข่าเกิดอาการบวมแดง มีลักษณะตึงคล้ายลูกโป่งที่เต็มไปด้วยน้ำ และทำให้บริเวณข้อเข่ามีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตึงเมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่า นอกจากนี้ กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ สามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อโรค การอักเสบที่เกิดจากโรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) และการถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบจากการสะสมกรดยูริกที่ตกตะกอนเป็นผลึกในข้อของผู้ป่วยโรคเกาต์ เป็นต้น และถ้าหากเกิดการอักเสบขึ้นที่บริเวณเดิมบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาไม่หายขาด หรือปล่อยให้เกิดการอักเสบไว้นาน ก็สามารถส่งผลให้เนื้อเยื่อหรือกระดูกอ่อนปกติถูกทำลายไปเรื่อยๆได้

อ่านบทความโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มเติมที่ : https://kdmshospital.com/article/knee-ostoearthritis/

อาการปวดเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ตำแหน่งที่เป็นสาเหตุการอักเสบของข้อเข่า

อาการปวดบริเวณเข่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นกล้ามเนื้อเข่าอักเสบ กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ หมอนรองกระดูกอักเสบ หรือภาวะข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่อาการปวดเข่ามักมีปัจจัยหลักมาจากอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนจากการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวอาจจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณเข่า มีดังนี้

เส้นเอ็น

เส้นเอ็นเข่าอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในเข่าและนอกเข่า มักมีปัจจัยมาจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬาบางชนิด ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บในตำแหน่งของเส้นเอ็นนั้น ๆ จนทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่สามารถขยับขาได้อย่างปกติ เช่น เส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดในนักฟุตบอล ทำให้เข่าหลวมหรือไม่มั่นคง ส่งผลให้ร่างกายเอนเอียงไปมาเวลาเปลี่ยนท่าทาง หรือรู้สึกเหมือนจะทรุดและล้มเวลาเดิน หากไม่ได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬาที่ต้องวิ่งหรือปรับเปลี่ยนทิศทางแบบทันทีทันใดได้

กระดูกอ่อน

กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าโดยปกติมีผิวสัมผัสเรียบลื่น เพื่อทำให้ร่างกายสามารถขยับข้อต่อได้อย่างอิสระและเป็นธรรมชาติในอิริยาบถต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุทางรถยนต์ เล่นกีฬา เข่าพลิก หรือกระดูกอ่อนเสียหายและสึกหรอจากการใช้งานเข่ามาเป็นระยะเวลานานในผู้สูงวัย จะส่งผลให้ผิวข้อเกิดการเสียดสีกันมากขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวได้ยากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บข้อเข่าได้

หมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูกข้อเข่า คือ เนื้อเยื่อรูปร่างคล้ายวงแหวนทำหน้าที่หลักในการกระจายน้ำหนักที่ส่งผ่านจากกระดูกต้นขาลงมายังหน้าแข้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกทั้งสองชิ้นเกิดการชนและเสียดสีกันโดยตรง โดยอาการบาดเจ็บหรือการฉีกขาดในหมอนรองกระดูกมักเกิดจากสองปัจจัยหลัก คือ การฉีกขาดจากการเล่นกีฬา หรือการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสึกหรอตามช่วงวัย

ภาวะข้อเข่าเสื่อม  

ภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก การมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นหรือเกินมาตรฐาน ทำให้ในขณะที่ใช้งานข้อเข่า อย่างเช่น การยืนหรือเดินลงน้ำหนัก จะรู้สึกเจ็บขัด หรือเสียวบริเวณข้อเข่า ถ้าหากทิ้งไว้นานหรือไม่ได้รับการรักษา สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาเหยียดงอเข่าได้ไม่สุด หรือขาโก่งผิดรูปร่างได้

วิธีสังเกตอาการของข้อเข่าอักเสบเบื้องต้น

วิธีสังเกตอาการของข้อเข่าอักเสบเบื้องต้น

เมื่อเกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า เช่น เส้นเอ็นเข่าหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด จะก่อให้เกิดอาการปวดและบวมโดยรอบ กล่าวคือ เมื่อข้อเข่าเกิดการอักเสบ จะส่งผลให้ร่างกายลำเลียงเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาวมายังบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมของเซลล์อักเสบมากขึ้น และกระตุ้นให้เยื่อบุข้อเข่าสร้างของเสียที่มีสถานะเป็นของเหลวออกมา ทำให้เข่าเกิดอาการบวมจนคล้ายลูกโป่ง ซึ่งเมื่อขยับจะรู้สึกตึงบริเวณข้อเข่า หรือสามารถสังเกตเห็นอาการแดง และรอยกระดูกที่มีลักษณะบุ๋มของบริเวณข้อเข่าหายไป นอกจากนี้ สามารถสังเกตได้โดยการวางมือลงบนข้อเข่าข้างที่บวมและข้างที่เป็นปกติเพื่อเปรียบเทียบกัน จะพบว่าบริเวณที่เกิดการอักเสบมีอุณหภูมิสูงกว่า 

กลุ่มที่เสี่ยงเป็นข้อเข่าอักเสบได้ง่าย

กลุ่มที่เสี่ยงเป็นข้อเข่าอักเสบ

กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเป็นข้อเข่าอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป มีดังต่อไปนี้

  • กลุ่มคนที่มีปัจจัยทางร่างกายที่ส่งผลให้เกิดการใช้ข้อเข่ามากกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน หรือคนที่มีภาวะเท้าแบน (Flat Feet)
  • กลุ่มคนที่มีกิจวัตรประจำวันที่ก่อให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า เช่น คนที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ หรือคนที่จำเป็นต้องขึ้นลงบันไดวันละหลายครั้ง
  • กลุ่มนักกีฬาบางชนิดที่มีการกระแทกบ่อยครั้งหรือสามารถส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเข่าได้ เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก นักกีฬาฟุตบอล หรือนักกีฬาบาสเกตบอล
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ก่อให้เกิดการอักเสบของข้อเข่า เช่น โรคเกาต์ที่ส่งผลให้เกิดผลึกยูริกตกตะกอนในข้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SLE -Systemic Lupus Erythematosus)

แนวทางการรักษาอาการข้อเข่าอักเสบ

แนวทางในการรักษาอาการอักเสบของข้อเข่า สามารถทำได้หลายวิธีทั้งแบบไม่ผ่าตัดหรือการผ่าตัด รวมไปถึงการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอักเสบ

วิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาอาการข้อเข่าอักเสบแบบไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาข้อเข่าอักเสบโดยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้น ถือเป็นขั้นตอนแรกในการรักษา โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ การลดอาการกล้ามเนื้อเข่าอักเสบหรือกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ส่วนใหญ่มักใช้การรักษาแบบไม่ผ่าตัดกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าอักเสบระยะเริ่มต้น ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก หรือในผู้ที่อาการอักเสบไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อย่างเช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SLE -Systemic Lupus Erythematosus) ซึ่งการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือกระดูกอ่อนข้อเข่านั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติได้ไปทำร้ายเนื้อเยื่อที่ปกติของตนเอง ซึ่งวิธีการรักษาแบบผ่าตัดจะไม่สามารถช่วยในการรักษาได้ เป็นต้น

การรักษาโดยไม่ผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบ เมื่อทานเข้าไปแล้วยาจะเข้าไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือการฉีดยาเข้าโดยตรงที่ตำแหน่งอักเสบ เช่น การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า หรือตำแหน่งรอบเส้นเอ็นที่อักเสบ ซึ่งจะได้ผลเร็วกว่าแบบรับประทาน เพราะเป็นการฉีดยาเข้าไปยังจุดที่ต้องการรักษาโดยตรง ทำให้ออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ในทันที ทั้งนี้ การจะรับประทานยาหรือฉีดยานั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาอาการปวดหรือบวมของข้อเข่าได้ โดยการประคบเย็นบริเวณที่บวมแดงเป็นเวลา 24-72 ชั่วโมงแรก แต่ในกรณีที่มีการอักเสบเรื้อรังควรประคบอุ่น หลังจากวันที่ 3-4 ขึ้นไป เมื่ออาการบวม แดง และร้อนลดลงแล้ว รวมไปถึง งดการใช้งาน และควรยกขาให้สูง เช่น การนอนโดยการเอาหมอนรองใต้เข่า เพื่อไม่ให้เลือดลงไปเลี้ยงเข่ามาก ซึ่งจะช่วยให้อาการบวมลดลงเร็วขึ้น และสิ่งที่ทุกคนควรทำเมื่อมีอาการเจ็บเข่าเรื้อรังโรคข้อเข่าเสื่อมคือ การลดน้ำหนักตัวลง โดยการลดน้ำหนักลงร้อยละ 5 ของน้ำหนักเดิมตอนที่มีอาการปวดเข่า จะช่วยให้โอกาสในการเกิดข้อเข่าอักเสบลดลงและอาการต่าง ๆ จากโรคดีขึ้นตามมา นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังควรหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าที่มีการอักเสบเพื่อไม่ให้ข้อเข่าที่อักเสบถูกกระตุ้นและมีอาการรุนแรงมากขึ้น เพราะการพักการใช้งานข้อเข่าจะทำให้การอักเสบสงบลงได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

วิธีการรักษาแบบกายภาพบำบัด  

การรักษาอาการข้อเข่าอักเสบด้วยการทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด คือ การใช้พลังงานจากภายนอก เช่น ความร้อน คลื่นเสียง หรือ เลเซอร์ เพื่อช่วยลดการอักเสบของส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย และเสริมให้การรักษาอาการอักเสบดียิ่งขึ้น โดยสามารถทำกายภาพบำบัดร่วมกับการรักษาแบบอื่นควบคู่กันได้ เช่น การรับประทานยา โดยตัวอย่างการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการข้อเข่าอักเสบ มีดังนี้

วิธีการดัดดึงข้อต่อ (Mobilization)

วิธีการดัดดึงข้อต่อ (Mobilization) เป็นหนึ่งในการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และความผ่อนคลายให้แก่กล้ามเนื้อ รวมไปถึง ลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย ซึ่งการทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว มักใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเนื้อเยื่อตึง หรือข้อติด โดยหลังจากที่พิจารณากระดูกและข้อต่อแล้ว นักกายภาพมักใช้วิธีการบิด ดึง หรือดันส่วนกระดูกและข้อต่อของผู้ป่วยให้กลับเข้าตำแหน่งเดิมอย่างช้า ๆ ซึ่งจะช่วยลดความตึงของเนื้อเยื่อโดยรอบของข้อต่อ และจัดกระดูกให้อยู่ในแนวมากขึ้น

วิธีการรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ (Ultrasound Therapy)

วิธีการทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ คือ การรักษาด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง (1-3 Hz) ผ่านตัวกลางอย่างเจลอัลตราซาวนด์เข้าไปยังเนื้อเยื่อเพื่อลดอาการอักเสบ กล่าวคือ เป็นการใช้คลื่นความร้อนเข้าไปรักษาในชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก โดยส่งผลให้เกิดความร้อนขึ้นภายในเนื้อเยื่อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต และขับของเสีย รวมไปถึง กระตุ้นการหลั่งสารลดปวด และลดอักเสบ ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ยังช่วยเร่งปฏิกิริยาในการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ทำให้การอักเสบหายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรใช้การบำบัดด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์กับบริเวณที่มีแผลเปิดหรือเลือดออก และบริเวณท้องหรือหลังในสตรีมีครรภ์ รวมไปถึง บริเวณใกล้กับเครื่องกระตุ้นหัวใจ

วิธีการรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy)

วิธีการรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง คือ การใช้เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser; HPL) ยิงแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นสม่ำเสมอที่ 980 นาโนเมตร และมีทิศทางแน่นอนลงไปยังชั้นผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่ความลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของเนื้อเยื่อ (Biological Effect) ใช้เพื่อรักษาอาการปวดจากโรคของระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ กล่าวคือ แสงจะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายหลั่งสารลดปวดและลดการอักเสบ รวมไปถึงเซลล์ได้กักเก็บพลังงานจากแสงไว้ เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในส่วนนั้น ๆ ตามธรรมชาติอีกด้วย

วิธีการรักษาแบบผ่าตัด

การรักษาอาการข้อเข่าอักเสบด้วยการผ่าตัด

ในการรักษาข้อเข่าอักเสบด้วยวิธีการผ่าตัด สามารถใช้วิธีการผ่าตัดที่มีความแตกต่างกันออกไปได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบนั้น ๆ  อย่างเช่น ในกรณีที่เส้นเอ็นอักเสบและไม่สามารถหายเองได้ อย่างเอ็นไขว้หน้าเสียหาย หรือหมอนรองกระดูกเข่าเกิดการฉีกขาด ก็สามารถรักษาด้วยการส่องกล้องผ่าตัดเพื่อทำเส้นเอ็นไขว้หน้าทดแทน หรือเย็บซ่อมแซมหมอนรองกระดูกที่ฉีกขาด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหลังจากรับการผ่าตัดรักษา นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นข้อเข่าเสื่อม และมีอาการรุนแรง หรือมีอาการมานานจนถึงขั้นเรื้อรังแล้ว เช่น ต้องใช้ยาแก้ปวดมาโดยตลอด หรือการมีขาโก่งผิดรูป เป็นต้น สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะในกรณีข้อเสื่อม การผ่าตัดสามารถเปลี่ยนผิวข้อทดแทนได้เลย

ดูบทความการผ่าตัดข้อเข่าเพิ่มเติมที่ : https://kdmshospital.com/article/joint-replacement-surgery/

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันข้อเข่าอักเสบ 

การบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าเพื่อป้องกันอาการข้อเข่าอักเสบ

เนื่องจากการอักเสบของข้อเข่า ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อเข่าอักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ล้วนเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น วิธีการดูแลตัวเอง หรือปรับอิริยาบถให้เหมาะสม และเสริมสร้างกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันข้อเข่าอักเสบได้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า

การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า อย่างน้อยวันละ 2-3 เวลาเป็นประจำ ช่วยในการเสริมความมั่นคงของข้อเข่า ทำให้สามารถเคลื่อนไหว หรือปรับเปลี่ยนท่าทางได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น รวมไปถึง ช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าอีกด้วย โดยในการบริหารข้อเข่าควรเริ่มจากท่าทางที่ง่ายก่อน หลังจากนั้นค่อยเพิ่มระดับความยากขึ้นไป และควรหยุดพักหากเกิดความเจ็บปวด

ดูบทความบริหารเข่าเพิ่มเติมที่ : https://kdmshospital.com/article/knee-exercise/

ออกกำลังกาย

นอกจากการออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ซึ่งช่วยให้ทุกคนรู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่าแล้วนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออีกด้วย โดยผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ควรเลือกกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวทุกส่วนและไม่มีการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น การว่ายน้ำ เพราะน้ำช่วยพยุงร่างกาย ทำให้ไม่เกิดแรงกระแทกที่ข้อต่อ นอกจากนั้น การว่ายน้ำยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และสุขภาพของหัวใจอีกด้วย

ท่านั่งที่ถูกต้องและท่าที่ควรหลีกเลี่ยง

ท่านั่งที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดแรงกดภายในข้อเข่า ส่งผลให้กระดูกอ่อนของข้อเข่าสึกกร่อนเร็วขึ้น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงท่านั่งที่ก่อให้เกิดการบิดงอเข่าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาทิ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยอง นั่งงอเข่าพับไปใต้เก้าอี้ หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นต้น รวมไปถึง ควรลุกเดินเป็นระยะหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสม อย่างการนั่งบนเก้าอี้ที่ลำตัวสามารถทำมุมตั้งฉากกับขาได้ และควรมีที่วางแขนเพื่อช่วยในการพยุงตัวเมื่อต้องการลุก หรือในกรณีที่ต้องนั่งต่ำหรือนั่งพื้น ควรนั่งในท่าที่เหยียดขาออกไป

หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดิมนาน ๆ

การนั่งนิ่งหรือยืนนิ่ง ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดแรงกดของน้ำหนักตัวลงไปที่เข่ามากขึ้น และเลือดไปเลี้ยงบริเวณกระดูกอ่อนข้อเข่าน้อยลง ดังนั้น ควรปรับอิริยาบถ ด้วยการลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง หรือนั่งเหยียดขา และเตะขาเบาๆ เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาร่วมด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องเดินหรือยืนเป็นระยะเวลานาน ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม หรือหลวมเล็กน้อย และมีความสูงของส้นไม่เกิน 2 นิ้ว จะช่วยในการกระจายน้ำหนักร่างกาย และลดปัญหาปวดฝ่าเท้าได้

ลดน้ำหนัก

การมีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน จะส่งผลให้ข้อต่อเข่าทำงานหนักขึ้น และเกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดการอักเสบ หรือการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าได้ ดังนั้น การลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะช่วยในการถนอมข้อเข่าให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ และเพิ่มความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวให้แก่ร่างกาย

สรุป

การหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกายข้อเข่าเป็นประจำ จะช่วยถนอมและยืดอายุของข้อเข่าให้นานยิ่งขึ้น รวมไปถึง ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำได้อย่างมีความสุขจากการมีข้อเข่าที่แข็งแรง แต่ถ้าหากเกิดความผิดปกติบริเวณข้อเข่า เช่น ข้อเข่าอักเสบ กล้ามเนื้อเข่าอักเสบ หรือกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเพื่อเข้ารับการรักษา เพราะการรักษาที่ทันท่วงที จะลดความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ข้อเข่ากลับสู่สภาพปกติ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดิม

 

 

คำถามที่พบบ่อย

ข้อเข่าอักเสบคืออะไร ?

ข้อเข่าอักเสบ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม กล่าวคือ เมื่อข้อเข่าถูกใช้งานอย่างหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลให้กระดูกอ่อนข้อเข่าที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของร่างกายบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการเสียดสีหรือการสึกหรอตามช่วงวัย

กลุ่มที่เสี่ยงเป็นข้อเข่าอักเสบได้ง่ายคือใครบ้าง ?

– กลุ่มคนที่มีปัจจัยทางร่างกายที่ส่งผลให้เกิดการใช้ข้อเข่ามากกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน
– กลุ่มคนที่มีกิจวัตรประจำวันที่ก่อให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า เช่น คนที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ
– กลุ่มนักกีฬาบางชนิดที่มีการกระแทกบ่อยครั้งหรือสามารถส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเข่าได้
– กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ก่อให้เกิดการอักเสบของข้อเข่า เช่น โรคเกาต์ที่ส่งผลให้เกิดผลึกยูริกตกตะกอนในข้

สามารถรักษาอาการข้อเข่าอักเสบด้วยวิธีใดได้บ้าง ?

แนวทางในการรักษาอาการอักเสบของข้อเข่า สามารถทำได้หลายวิธีทั้งแบบไม่ผ่าตัดหรือการผ่าตัด รวมไปถึงการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอักเสบ

Fri, 01 Oct 2021
แท็ก
ข้อเข่าเสื่อม
เข่าเสื่อม
หัวเข่า
ข้อเข่าอักเสบ
เข่าอักเสบ

Related packages
Total Knee Arthroplasty  (TKA) on one side using MAKO robotic surgery technology performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 445,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
Hip Arthroplasty using MAKO robotic surgery technology to enhance precision in surgical procedures performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 506,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line