บทความ /

เข่าหลวม เข่ามีเสียง ค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรกับข้อเข่าของเรา พร้อมคำแนะนำและแนวทางการรักษาให้หาย

หลายคนอาจจะเคยมีปัญหา หรือมีอาการข้อเข่าหลวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง หรือได้ยินเสียงดังในข้อเข่าเวลาขยับ ซึ่งอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่อายุน้อย ไปจนถึงอายุมากๆ ได้เช่นกัน  

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าหลวม หรือเกิดเสียงดังในข้อเข่านั้นมีอยู่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องอายุ เพศ การใช้งานข้อเข่าที่ผ่านมา หรือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการ ‘เข่าหลวม เข่ามีเสียง’ ได้ด้วย 

Table of Contents

ทำความรู้จัก ‘ข้อเข่า’ อวัยวะต้นเหตุของเข่าหลวม เข่ามีเสียง

ก่อนอื่นต้องมารู้จักกับกายวิภาค หรือส่วนประกอบของข้อเข่ากันก่อน ถึงจะเข้าใจได้ว่า เหตุใดเราจึงเกิดอาการ ‘ข้อเข่าหลวม เข่ามีเสียง’ หรือเกิดเสียงดังผิดปกติในข้อเข่าได้  

ข้อเข่า นับเป็นอวัยวะสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ช่วยรับน้ำหนัก รับแรงกระแทก นับเป็น ‘ข้อ’ ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ มีลักษณะการทำงานเหมือนข้อบานพับใหญ่ ซึ่งหลักๆ ประกอบไปด้วยกระดูก กระดูกอ่อน เยื่อบุข้อ และเส้นเอ็นต่างๆ 

กระดูก 

  • ประกอบด้วย กระดูกต้นขาด้านบน กระดูกหน้าแข้งด้านล่าง และกระดูกสะบ้าเข่า 
  • กระดูกสะบ้าเข่าจะมีขนาดเล็ก ประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีเหลี่ยมมุม อยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ตำแหน่งอยู่ทางด้านหน้าข้อเข่า ทำหน้าที่ปกป้องข้อเข่าทางด้านหน้า
  • กระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนที่ในร่องของกระดูกต้นขา เมื่อข้อเข่ามีการขยับในมุมงอ-เหยียด มักจะเป็นสาเหตุของเสียงที่เกิดขึ้นในข้อเข่า

กระดูกอ่อนผิวข้อ 

  • ปกคลุมผิวข้อทั้งหมด 
  • มีลักษณะเรียบ ลื่น 
  • ช่วยทำให้การเคลื่อนที่ของข้อต่อไม่ติดขัด 

หมอนรองกระดูกข้อเข่า 

  • มีลักษณะเป็นแผ่นหนาเป็นวง วางตัวอยู่บนด้านบนของกระดูกหน้าแข้ง 
  • หมอนรองกระดูกเข่า มีทั้งด้านใน และด้านนอกของข้อเข่า 
  • ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก ที่ส่งผ่านจากกระดูกต้นขา มายังกระดูกหน้าแข้ง 
  • ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่า ในขณะที่เรายืน เดิน หรือกระโดด 

เยื่อบุข้อเข่า 

  • เป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมหุ้มข้อเข่า และเส้นเอ็นในเข่าโดยรอบ 
  • เยื่อบุข้อเข่านี้มีลักษณะเป็นถุงหุ้มรอบข้อเข่า ซึ่งภายในจะมีน้ำข้อเข่า ซึ่งมีลักษณะเหนียว ลื่น 
  • น้ำภายในเยื่อบุข้อเข่า ช่วยในการหล่อลื่นผิวข้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด
  • การหนาตัวของเยื่อบุข้อเข่าจากสาเหตุต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังผิดปกติเกิดขึ้นในข้อเข่าได้ 

เส้นเอ็นข้อเข่า 

  • มีเส้นเอ็นสำคัญอยู่ 4 เส้น ได้แก่ เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง เอ็นด้านในข้อเข่า และเอ็นด้านนอกข้อเข่า 
  • เส้นเอ็นทั้ง 4 เส้นนี้มีความสำคัญมากในการสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่า
  • ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างข้อกระดูกต้นขา ยึดกับข้อกระดูกหน้าแข้ง 
  • อาจเกิดการบาดเจ็บ ฉีดขาดเกิดขึ้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับข้อเข่า
อาการข้อเข่าหลวม

‘ข้อเข่าหลวม’ เกิดจากสาเหตุใด อาการเป็นอย่างไร

อาการข้อเข่าหลวมเป็นอย่างไร สำหรับใครที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์นี้อาจจะนึกไม่ออก ซึ่งจริงๆ แล้วข้อเข่าหลวมมีอาการได้หลากหลาย บางคนอาจจะรู้สึกเหมือนว่าเข่าคล้ายจะเลื่อนหลุดออก ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะที่ลงน้ำหนักบนขาข้างนั้นๆ ร่วมกับการบิดหมุนตัวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อาการนี้อาจทำให้รู้สึกว่าเข่าจะทรุด หรือพับลง หรือบางครั้งก็ทำให้ล้มลงจริงๆ ก็เป็นได้ 

อาการเข่าหลวมอาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ 

เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีดขาด 

  • เอ็นไขว้หน้าเข่าจะเกิดการบาดเจ็บหรือฉีดขาดได้ หากขณะลงน้ำหนักที่ขาและเข่า เกิดการบิดอย่างรุนแรง 
  • เอ็นไขว้หน้า เป็นเส้นเอ็นที่เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในขณะเล่นฟุตบอล หรือกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรง  
  • เมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่า จะทำให้เกิดอาการปวด บวมอย่างรวดเร็ว มักจะทำให้ลงน้ำหนักในขาข้างที่บาดเจ็บไม่ได้เต็มที่ 
  • เอ็นไขว้หน้าเข่า เป็นเอ็นที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงจากทิศทางการบิดหมุนข้อเข่า เมื่อเอ็นนี้ฉีกขาดไปจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของเข่าหลวมไม่มั่นคงได้ 

การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด การฉีดขาดของเอ็นไขว้หน้า หากเกิดขึ้นกับผู้ที่อายุน้อย และยังต้องการใช้งานเข่าทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเล่นกีฬาอยู่เป็นเสมอ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด เนื่องจากเนื้อเอ็นไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้เอง จึงต้องอาศัยการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อนำเส้นเอ็นส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เอ็นสะบ้าเข่า หรือเอ็นด้านหลังต้นขา มาปลูกฝังทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาด

เอ็นด้านในเข่าบาดเจ็บ 

  • เอ็นด้านในเข่ามีลักษณะเป็นแผ่น แข็งแรง 
  • เชื่อมกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้งทางด้านในเข่า 
  • เอ็นด้านในเข่า มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่าด้านใน 
  • เมื่อเกิดการฉีดขาดของเส้นเอ็น จะทำให้เกิดอาการเข่าทรุดเข้าด้านในตอนลงน้ำหนักที่ขา 
  • การบาดเจ็บของเอ็นด้านในเข่า จะทำให้เกิดการปวด หรือบวม เฉพาะด้านในเข่าได้ 

การรักษาเอ็นด้านในเข่าบาดเจ็บ การบาดเจ็บของเอ็นด้านในเข่ามักเกิดจากแรงกระแทกที่ด้านนอกของข้อเข่าขณะเล่นกีฬา การรักษาส่วนมากไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใส่เฝือก เพื่อไม่ให้ข้อเข่าเคลื่อนไหว

เอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บ

  • เอ็นไขว้หลังเข่า มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่าทางด้านหลัง 
  • การบาดเจ็บ หรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หลังเข่า พบได้น้อยกว่าการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าเข่า หรือเอ็นด้านในเข่า 
  • อาการเข่าหลวมที่เกิดจากการฉีกขาดของเอ็นไขว้หลัง ผู้มีอาการมักจะรู้สึกว่าเข่าหลวมทั้งเข่า และเข่ามักจะแอ่นไปด้านหลัง ขณะลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้นๆ 
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ มักเกิดจากแรงกระแทกทางด้านหน้าเข่า ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุรถชนทางด้านหน้า 

การรักษาเอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บ หากเกิดขึ้นกับผู้ที่อายุน้อย และต้องการใช้งานเข่าทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดส่องกล้องรักษาทำเอ็นไขว้หลังทดแทน คล้ายๆ กับการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด

กระดูกสะบ้าเข่าไม่มั่นคง 

  • อีกสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเข่าหลวมไม่มั่นคง เกิดจากการหลวมของกระดูกสะบ้าเข่า 
  • กระดูกสะบ้าเข่า ปกติจะอยู่ด้านหน้าข้อเข่า เคลื่อนตัวขึ้น-ลง ผ่านร่องบนกระดูกต้นขา ในขณะที่เราเคลื่อนไหว งอ-เหยียดเข่า 
  • อาการไม่มั่นคงที่เกิดจากสะบ้าเข่า เกิดจากการที่กระดูกสะบ้าเข่าคลื่อนตัวออกทางด้านนอกของเข่า ขณะที่งอเข่า หรือกำลังจะลงนั่งยอง 
  • การเคลื่อนตัวของสะบ้าเข่านี้ อาจจะคล้ายว่ากำลังจะหลุด หรือเคลื่อนตัวจนหลุดออกจากร่องเลยก็ได้ 
  • ถ้าสะบ้าเข่ามีการเคลื่อนบ่อยๆ จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดใต้สะบ้าเข่าได้ 
  • กระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อน เกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า หรือเกิดจากการที่ข้อเข่าผิดรูปจากโรคข้อเข่าเสื่อมมาเป็นระยะเวลานานก็เป็นไปได้  

การรักษากระดูกสะบ้าเข่าไม่มั่นคง พิจารณาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง มีตั้งแต่การใส่เฝือกรักษา จนถึงการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กระดูกสะบ้าเข่า

อ่านบทความเพิ่มเติม:

เข่าเสื่อม และอาการข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัวที่ต้องทำความรู้จัก และเตรียมตัวให้พร้อม

วิเคราะห์อาการปวดหัวเข่า ปวดข้อเข่า แบบไหนอย่างไรจึงควรพบแพทย์

การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

อาการเข่ามีเสียง

‘เข่ามีเสียง’ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงดังในข้อเข่า 

บางครั้งเราอาจได้ยินเสียงดังในข้อเข่า ซึ่งลักษณะของเสียง มีได้ตั้งแต่เสียงป๊อบ เสียงแคร๊ก หรือเสียงกรอบแกรบ ในระหว่างที่ขยับ เหยียด งอข้อเข่า ขณะที่ยืน เดิน หรือขึ้นลงบันได 

ส่วนใหญ่แล้วเสียงในข้อเข่ามักไม่ได้เกิดจากโรค หรือความผิดปกติในข้อเข่า แต่หากว่าเกิดเสียงร่วมกับอาการเจ็บปวดในข้อเข่า แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจข้อเข่าให้ละเอียดต่อไป 

สาเหตุของเสียงในข้อเข่าเกิดจากอะไรได้บ้าง

เข่ามีเสียงจากโรคข้อเข่าเสื่อม  

  • พบได้บ่อยกับคนที่อายุมากกว่า 50 ปี 
  • โรคข้อเสื่อมเกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า เกิดความไม่เรียบของกระดูกอ่อนผิวข้อ ร่วมกับการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า และกระดูกงอกรอบข้อ  
  • เสียงผิดปกติที่เกิดในโรคข้อเข่าเสื่อม จะมีลักษณะกรอบแกรบ หรือมีเสียงลักษณะคล้ายกรวดทรายถูกบดถูอยู่ในข้อ 
  • อาจเกิดร่วมกับอาการปวด บวมข้อ ขณะที่เคลื่อนไหวข้อเข่า ยืน เดินลงน้ำหนัก หรือขึ้นลงบันได

เข่ามีเสียงจากฟองแก๊สในข้อเข่า 

  • ในเข่าของเรามีน้ำข้อเข่า ซึ่งเป็นของเหลว เหนียว ลื่น 
  • มีบางภาวะที่จะเกิดฟองแก๊สเล็กๆ ขึ้นในน้ำข้อเข่า 
  • เมื่อเรางอเข่า จะทำให้ฟองแก๊สเหล่านี้แตกตัว เกิดเป็นเสียงได้ 
  • เสียงที่เกิดจากฟองแก๊สเหล่านี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติกับข้อต่อต่างๆในร่างกาย และไม่พบร่วมกับอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

เข่ามีเสียงจากเส้นเอ็นในข้อเข่า 

  • เส้นเอ็นด้านใน และด้านนอกข้อเข่า เชื่อมต่อระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง 
  • บางครั้งวางตัวอยู่บนปุ่มบนผิวกระดูก หรือกระดูกที่งอกยื่นรอบๆ ข้อ 
  • เมื่อเราขยับข้อเข่า จะทำให้เส้นเอ็นเหล่านี้ขยับผ่านปุ่มกระดูกต่างๆ 
  • บางครั้งทำให้เกิดเสียงลั่น หรือเสียงคลิ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

เสียงในเข่าที่เกิดจากอกการบาดเจ็บส่วนต่างๆ ของข้อเข่า  

การบาดเจ็บในหลายๆ ตำแหน่ง ทำให้เกิดเสียงผิดปกติในข้อเข่า ได้แก่ 

  • การฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า ซึ่งมักเกิดจากการบาดเจ็บขณะเล่นกีฬา ทำให้เกิดเสียงกรอบแกรบ หรือเสียงคลิ๊กผิดปกติขณะที่ขยับใช้งานเข่าได้  มักพบร่วมกับอาการเจ็บด้านในหรือด้านนอกข้อเข่าร่วมด้วย
  • โรคกระดูกอ่อนสะบ้าเข่าอักเสบ โรคนี้เกิดจากความเสียหาย ความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนใต้กระดูกสะบ้าเข่า ทำให้เกิดเสียง และอาการปวด เสียว ตึง เจ็บด้านหน้าเข่า ขณะที่งอเข่ามากๆ หรือ ขึ้น-ลงบันไดได้

เข่ามีเสียงเนื่องจากกล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง 

  • กล้ามเนื้อต้นขาจะเชื่อมไปยังกระดูกหน้าแข้ง ผ่านกระดูกสะบ้าเข่า 
  • ทำหน้าที่ประสานกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระดูกสะบ้าเข่าผ่านร่องบนกระดูกต้นขาที่เป็นปกติ 
  • ถ้าหากกล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง ซึ่งเกิดได้จากขาดการใช้งาน หรือพบได้ในโรคข้อเข่าเสื่อม จะทำให้การเคลื่อนที่ของกระดูกสะบ้าเข่าผิดปกติไป 
  • แนวการเคลื่อนที่ซึ่งผิดปกติบนร่องกระดูกต้นขานี้ อาจทำให้เกิดเสียงดังที่ผิดปกติได้ 
  • มักไม่พบร่วมกับอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

โดยสรุป ‘เข่าหลวม เข่ามีเสียง’ จึงนับว่าเป็นตัวบอกเหตุอาการบาดเจ็บของข้อเข่า เพราะด้วยความที่เป็นอวัยวะสำคัญต่อการทรงตัวและเคลื่อนไหวร่างกาย จึงไม่ควรละเลยเมื่อเกิดความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีสัญญาณเตือนให้เรารู้ตัว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด เพื่อให้เข่าอยู่กับเราไปนานๆ

Q&A

Q: ข้อเข่าหลวม เกิดจากสาเหตุใด อาการเป็นอย่างไร

อาการเข่าหลวมอาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่

1. การบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่า เป็นเส้นเอ็นที่เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในขณะเล่นฟุตบอล หรือกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรง  
2. การบาดเจ็บของเอ็นด้านในเข่า จะทำให้เกิดการปวด หรือบวม เฉพาะด้านในเข่าได้ 
3. การบาดเจ็บ หรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หลังเข่า 
4. อีกสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเข่าหลวมไม่มั่นคง การหลวมของกระดูกสะบ้าเข่า

Q: สาเหตุของเสียงในข้อเข่าเกิดจากอะไรได้บ้าง

เสียงในข้อเข่ามักไม่ได้เกิดจากโรค หรือความผิดปกติในข้อเข่า แต่หากว่าเกิดเสียงร่วมกับอาการเจ็บปวดในข้อเข่า แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจข้อเข่าให้ละเอียดต่อไป 

1. เข่ามีเสียงจากโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า เกิดความไม่เรียบของกระดูกอ่อนผิวข้อ ร่วมกับการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า และกระดูกงอกรอบข้อ
2. เข่ามีเสียงจากฟองแก๊สในข้อเข่า เกิดขึ้นได้เมื่อเรางอเข่า จะทำให้ฟองแก๊สเหล่านี้แตกตัว เกิดเป็นเสียงได้
3. เข่ามีเสียงจากเส้นเอ็นในและด้านนอกข้อเข่า เมื่อเราขยับข้อเข่า จะทำให้เส้นเอ็นเหล่านี้ขยับผ่านปุ่มกระดูกต่างๆ บางครั้งทำให้เกิดเสียงลั่น หรือเสียงคลิ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

Tue, 20 Jul 2021
แท็ก
เข่าหลวม
เข่ามีเสียง

Related packages
Total Knee Arthroplasty  (TKA) on one side using MAKO robotic surgery technology performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 445,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
Hip Arthroplasty using MAKO robotic surgery technology to enhance precision in surgical procedures performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 506,000* บาท
package สิ้นสุด 31/03/2024
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line

Login