บทความ /

เปรียบเทียบกันชัดๆ Office Syndome รักษาแบบไหนดีที่สุด

กลายเป็นหัวข้อที่คนพูดถึงและนำมาแลกเปลี่ยนกันมากที่สุดในหมู่พนักงานออฟฟิศ เพราะหลายคนพบว่าโดนอาการ Office Syndome คุกคามอย่างมากและทำให้ปวดทรมานเหลือเกิน ยิ่งคนที่ทำงานมาได้สักพักและอายุเริ่มมากขึ้น กระดูก กล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มไม่ยืดหยุ่นเหมือนกับสมัยที่ยังอายุน้อยกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่หลายออฟฟิศปรับให้มีการ Work From Home มากขึ้น เพราะหลายๆ บ้านก็ไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์สำนักงานที่จะทำให้การนั่งทำงานเกิดความสะดวกสบาย ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นหัวข้อพูดคุยประจำวันกันไปแล้วว่าแต่ละคนกำลังหาวิธีรักษา Office Syndome กันอย่างไร ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เพราะการปวดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

KDMS จึงได้ทำการเปรียบเทียบการรักษาแบบต่างๆ ว่าแบบไหนเหมาะกับการปวดประเภทไหนมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาแบบใดก็ตาม จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง และอย่าลืมยืดกล้ามเนื้อให้ถูกวิธี และปรับลักษณะร่างกายเวลาทำงานของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไม่นั่งอยู่ในท่าเดิมนานเกินไปหรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ้างนั่นเอง

ฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry needling / Trigger point release)

วิธีการรักษา: ฝังเข็มแบบตะวันตกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Dry needling / Trigger point release)

เหมาะกับ: คนไข้ที่มีจุดกล้ามเนื้อเป็นพังพืดชัดเจน

ระดับความเจ็บ: 3 ดาว

การรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตกนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจเจอจุดกล้ามเนื้อที่เป็นพังพืดได้อย่างชัด เจน โดยจะเป็นการฝังเข็มแบบไม่ฉีดยา (Dry needling)หรือการฝังเข็มแบบแห้ง ไปยังกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีการเกร็งตัวเป็นก้อน และเป็นสาเหตุของอาการปวดโดยตรง (Trigger point) ซึ่งนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะที่ ช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ และหากร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อหลังการฝังเข็มแบบแห้งนี้ ก็จะช่วยให้สามารถคลายการตึงตัวของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้เร็ว   ซึ่งการฝังเข็มแบบนี้จะต่างจากการฝังเข็มแบบจีนโบราณ ที่จะเน้นเรื่องระบบหมุนเวียนของพลังงานลมปราณโดยรวมมากกว่า ส่วนระดับความเจ็บที่ให้ไป 3 ดาวนั้น ก็เพราะการรักษาแบบนี้ต้องมีการแทงเข็มเข้าไปในจุดที่ปวดโดยตรง อาจทำให้มีอาการระบมภายหลังการฝังซึ่งสามารถหายไปใน 1 -2 วัน แต่ก็ถือว่ารักษาได้ตรงจุดและขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยการรักษาวิธีนี้ไม่แนะนำในผู้ที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่ายหรือทานยาละลายลิ่มเลือด ถ้าใครไม่กลัวเข็มและอาการเข้าเกณฑ์ก็เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ เรียกว่าเจ็บหน่อยดีกว่าปล่อยให้ทรมาน

คลื่นกระแทก (Shock wave therapy)

วิธีการรักษา: คลื่นกระแทก (Shock wave therapy)

เหมาะกับ: มีจุดเจ็บเป็นบริเวณกว้าง

ระดับความเจ็บ: 2 ดาว

การรักษาด้วยคลื่นกระแทกนี้จะคล้ายกับการสลายนิ่วในไต แต่เบากว่า โดยถ้าหากแพทย์ผู้รักษาพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรัง และมีจุดที่ปวดกินบริเวณกว้าง ก็อาจแนะนำให้เลือกรักษาด้วยวิธีนี้ โดยกระบวนการรักษาจะเป็นการปล่อยคลื่นพลังงานให้เข้าไปกระแทกกล้ามเนื้อที่เจ็บปวด เพื่อเพิ่มเลือด และออกซิเจนบริเวณกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ กระตุ้นการซ่อมแซมของกล้ามเนื้อโดยที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาซ้ำๆ ประมาณ 2-5 ครั้ง แล้วแต่อาการของผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ความเจ็บที่ให้ไว้ที่ 2 ดาว ก็เพราะกล้ามเนื้อของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อต่างกันไป และการรักษากินระยะเวลาหลายสัปดาห์อยู่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่ปวดมากๆ อาจจะรู้สึกว่าเจ็บเกินไป นอกจากนี้ การรักษาชนิดนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคอื่นๆ หรือมีอาการอื่นๆ อย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดบริเวณแผ่นปลายกระดูกและเส้นประสาทอักเสบ ผู้ป่วยเลือดแข็งตัวช้าและเลือดออกง่าย รวมถึงผู้ป่วยสุภาพสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน

การรักษาด้วยคลื่นแสงกำลังสูง (High intensity laser therapy)

วิธีการรักษา: การรักษาด้วยคลื่นแสงกำลังสูง (High intensity laser therapy)

เหมาะกับ: มีจุดเจ็บเป็นบริเวณกว้างและกลัวการฝังเข็ม

ระดับความเจ็บ: 0.5 ดาว

การรักษาชนิดนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการรักษาทางการแพทย์ โดยจะเป็นการยิงแสงเลเซอร์กำลังสูง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และมีความยาวคลื่นสม่ำเสมอ ทะลุผ่านผิวหนังและเนื้อเยื่อเข้าสู่จุดที่ปวดได้โดยตรง โดยไม่ทำให้เกิดความระคายเคืองหรือเจ็บปวดเลย โดยที่ให้ไว้ 0.5 ก็เพราะว่าผู้ป่วยอาจจะรู้สึกอุ่นๆ นิดหน่อยตรงจุดที่ยิงแสงเท่านั้น นอกจากนี้การยิงแสงแต่ละครั้งยังใช้เวลาไม่นาน และสามารถเข้ารับการรักษาต่อเนื่องได้ทุกระดับอาการ ไม่ว่าจะเป็นแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง และสามารถเห็นผลได้ทันทีหลังเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม การรักษาชนิดนี้ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่  ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยตั้งครรภ์ และมีข้อห้ามไม่ให้ลำแสงโดนจอประสาทตา  จึงจำเป็นที่ต้องใส่อุปกรณ์แว่นป้องกันแสงเลเซอร์ให้แก่ผู้ป่วยทุกท่าน ส่วนภาวะอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อตรวจสอบสภาวะร่างกาย ของผู้ป่วยเองว่าเหมาะกับการรักษาชนิดนี้หรือไม่

Tue, 13 Jul 2021
แท็ก
ออฟฟิซซินโดรม

Related packages
บทความอื่นๆ
ทำไมต้องกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ ?
เคลื่อนไหวลำบาก ออกกำลังได้จำกัด ให้ “ธาราบำบัด” ช่วยฟื้นฟู
ปวด คอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง เสริมความแข็งแรงหลังด้วย Neurac Technique
บุคลิกภาพดีด้วย “พิลาทีส” แถมบรรเทาออฟฟิตซินโดรม
top line

Login