ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตชีวิตคนทำงาน
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndorme) ขึ้นทำเนียบเป็นโรคยอดฮิตประจำพ.ศ. นี้ไปแล้ว เนื่องจากเป็นโรคที่มากับไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีต่างๆ เป็นปัจจัยที่ 5 ยิ่งการ work from home เดินทางมาถึง ก็เชื่อเหลือเกินว่าคนทำงานอย่างเราๆ ก็น่าจะเคยผ่านประสบการณ์ปวดหลัง ปวดไหล่ สะบักจม ข้อมืออักเสบ ปวดต้นคอ ตาล้า และอื่นๆ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย
และในเมื่อหลีกเลี่ยงการทำงานนั่งโต๊ะ หน้าแป้นคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ก็ควรทำความเข้าใจเพื่อนใหม่ชื่อออฟฟิศซินโดรมเอาไว้ เพราะอย่างที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ย่อมชนะร้อยครั้ง” วันนี้ KDMS เลยจะมาอธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมให้รู้จัก พร้อมถาม-ตอบปัญหาชวนสงสัย
Table of Contents
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร เกิดจากอะไร
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของระบบในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือดวงตา ที่ต้องรับบทหนักขณะทำกิจกรรมเหล่านี้
อาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาจเกิดจากออฟฟิศซินโดรม
- ไมเกรน ตาล้า
- ปวดบริเวณ กระดูกคอ บ่า ไหล่
- ปัญหาไหล่งุ้ม คอยื่น
- เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท
- ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De Quervain’s tendonitis)
- นิ้วล็อก (trigger finger)
- กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
- ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
กลุ่มเสี่ยงกับอาการออฟฟิศซินโดรม
จากเดิมออฟฟิศซินโดรมมักจะเกิดขึ้นในคนทำงานที่อยู่ในวัย 30-40 ปี แต่ปัจจุบันการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ไม่ใช่จำกัดแค่พนักงานออฟฟิศหรือคนทำงานทั่วไป คนรุ่นใหม่ต่างต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัย 20 ปีหรือน้อยกว่านั้น รวมถึงผู้สูงอายุที่ปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงของโรคออฟฟิศซินโดรมจึงไม่ได้จำกัดแค่วัยทำงานอีกต่อไป
อาการออฟฟิศซินโดรมแบ่งเป็นกี่ระดับ รุนแรงขนาดไหนที่ควรพบแพทย์
อาการบาดเจ็บจากออฟฟิศซินโดรม อาจจะเป็นโรคยอดนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยผ่านหรือละเลยได้ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการหนักขึ้น จะกลายเป็นการบาดเจ็บเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา
ระดับของอาการบาดเจ็บจากออฟฟิศซินโดรม
- อาการบาดเจ็บเริ่มต้น โดยทั่วไปออฟฟิศซินโดรมจะเริ่มต้นจากอาการเมื่อยที่เมื่อเราพักผ่อน นวด ยืดเหยียดในบริเวณดังกล่าว หรือเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆก็จะหายหรือทุเลาลงได้
- อาการบาดเจ็บซ้ำๆ ระหว่างการทำงาน ทุกครั้งที่อาการปวดเมื่อยเริ่มเป็นซ้ำๆ ระหว่างทำงาน นี่คือสัญญาณเตือนภัยว่าออฟฟิศซินโดรมกำลังเป็นอันตราย ในระยะนี้ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาอาการบาดเจ็บแต่เนิ่นๆ
- อาการเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้นแม้ในเวลาไม่ได้ทำงาน เมื่ออาการเจ็บปวดบริเวณต่างๆ ของร่างกายเพิ่มมากขึ้น แม้ตอนที่ไม่ได้ทำงานก็ยังเจ็บ และแม้จะลองพัก ลองยืดเหยียดอย่างไรก็ไม่หาย ลามไปถึงกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน นี่คือระดับอาการที่ควรพบแพทย์โดยด่วน
แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมคือกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และตัวผู้ป่วย เพราะเป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน เพื่อให้เอื้อกับการรักษามากน้อยแค่ไหน
ในเบื้องต้น การรักษาจะเน้นวิธีทางกายภาพบำบัด การปรับพฤติกรรมซึ่งเป็นการแก้ที่ต้นเหตุของออฟฟิศซินโดรม และทำให้อาการบาดเจ็บของร่างกายในส่วนนั้นๆ ลดลงได้
- ลดอาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ หลีกเลี่ยงการใช้งานหรือลดการเคลื่อนไหวของข้อต่อบริเวณนั้นๆ เช่น หัวไหล่ ข้อมือ ข้อศอก การกายภาพบำบัด หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ในกรณีที่จำเป็น
- ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เช่น การทำงานในท่าทางเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน, หลีกเลี่ยงท่าทางในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง, จัดโต๊ะทำงานให้สิ่งของที่หยิบใช้บ่อยๆ อยู่ในระยะเอื้อมถึงได้ง่าย ไม่ต้องโน้มตัวหรือเอื้อมมือไปไกล, จัดเวลาการทำงานและการพักผ่อนที่ไม่เหมาะสม
- ปรับท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์ ด้วยการปรับอุปกรณ์ที่ใช้ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ แสงสว่างบริเวณโต๊ะทำงาน จอคอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของเรา
- ออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในการรักษาที่สำคัญของออฟฟิศซินโดรม เพราะการที่กล้ามเนื้อไม่ยืดหยุ่นและไม่แข็งแรงพอ จะไม่อาจทนทานต่อการใช้งานกล้ามเนื้อที่ต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมซ้ำๆ ไม่หายขาดเสียที
ซึ่งการออกกำลังกายในโรคนี้ที่สำคัญจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จุดประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่มักจะมีการหดเกร็งจากการใช้งานติดต่อกันอย่างยาวนาน ซึ่งการยืดเหยียดนี้สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่มีช่วงที่ยังมีอาการปวดอยู่
2. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ จุดประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแรงทนทานให้แก่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นซึ่งการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงนี้มักจะเริ่มทำเมื่ออาการปวดในระยะเฉียบพลันมีอาการทุเลาลง โดยเริ่มจากการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อ หรือ Isometric strengthening exercise ก่อน เพราะมักไม่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้นในช่วงที่ยังมีอาการปวดเฉียบพลันอยู่ หลังจากนั้นจึงค่อยเพิ่มการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงแบบอื่นต่อไปตามลำดับ
หน้ายื่น ไหล่ห่อ อาการออฟฟิศซินโดรมยอดฮิตของคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์
อย่างที่เราทราบกันดีว่าโลกในศตวรรษที่ 20 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น สังเกตได้จากการทำงาน กระทั่งการเรียนหนังสือในปัจจุบันที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมนานๆ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดท่า ‘หน้ายื่น ไหล่ห่อ’ ได้
ซึ่งนอกจากจะเป็นท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ นำมาซึ่งอาการปวดหลังแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
- เนื่องจากน้ำหนักของศีรษะที่ยื่นไปข้างหน้า เพียงแค่ 1 นิ้วจากแกนกลางของกระดูกคอ สามารถเพิ่มแรงกดที่กระดูกสันหลังถึงประมาณ 4.5 กิโลกรัม
- หากยิ่งยื่นหน้าไปใกล้จอมากเท่าไหร่ กระดูกสันหลังก็ยิ่งแบกรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น
- หน้าที่ยื่นออกมาทำให้เราต้องแอ่นคอขึ้นเพื่อมองจอ เพิ่มแรงกดมากขึ้นที่ฐานคอ และส่งแรงกดต่อไปที่กระดูกคอ ข้อต่อกระดูกคอ หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อรอบคอ
- อาจนำมาซึ่งอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดร้าวที่กระบอกตา รอบดวงตา และบริเวณหน้าผาก
- ปวดกล้ามเนื้อด้านหลังคอ คอแข็ง ตึง หันลำบาก
- ปวดบริเวณกระดูกคอ ข้อต่อกระดูกคอ หมอนรองกระดูกคอเสื่อม
- ไหล่ห่อ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกด้านหน้าถูกดึงจนตึงกว่าปกติ เกิดอาการปวดคอและบ่า รวมถึงแรงตึงที่ทำให้ปวดไหล่ได้
ดังจะเห็นได้ว่า ท่านั่งทำงานที่ไม่ถูกต้องตามหลักสรีระอาจส่งผลต่ออาการเจ็บปวดของร่างกายได้ การปรับเปลี่ยนอิริยาบทจึงเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากต้องใช้เวลาในแต่ละวันทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม
การป้องกันอาการเจ็บปวดจากการทำงานที่ได้ผลดีและทำได้ด้วยตัวเองก็คือ
- การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เน้นการออกกำลังกายที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อที่มักเจ็บปวดได้ง่าย
- การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานระหว่างทำงาน
- ระหว่างนั่งทำงานให้หยุดพักทุกหนึ่งชั่วโมง ด้วยการลุกเดิน เปลี่ยนท่าทาง เพื่อให้ร่างกายได้พักไปในตัว
- กายบริหารเบาๆ ด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่นขวดน้ำบนโต๊ะทำงาน ลูกบอลบีบบริหารมือ เป็นต้น
- การป้องกันด้วยอุปกรณ์พยุงต่างๆ ไม่ควรซื้อมาลองใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์
เพราะความรู้ ความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถ เป็นยาที่ดีที่สุด การผ่าตัดใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้หายได้หากผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมการทำงานในรูปแบบเดิม ดังนั้น KDMS จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ต้องจัดการเวลาเพื่อทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสมเพื่อที่ร่างกายจะยังคงอยู่ทำงานกับเราไปได้อีกนานๆ
คำถามที่พบบ่อยในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
Q: นวดไทย นวดประคบ ช่วยแก้อาการออฟฟิศซินโดรมได้ไหม
การนวดไทย หรือ นวดประคบ สามารถช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากสาเหตุของกล้ามเนื้อตึงได้ อย่างไรก็ตามหากอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดจากพยาธิสภาพของส่วนอื่น เช่น เส้นเอ็น เส้นประสาท อาจจะไม่หายหรือทำให้อาการเป็นมากขึ้นได้ ดังนั้นหากนวด 1-2 ครั้งแล้วยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์ หรือหากอาการค่อนข้างรุนแรงตั้งแต่แรกแนะนำให้พบแพทย์ก่อน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยอาการบาดเจ็บได้ถูกต้อง ก่อนจะไปนวด ประคบ หรือกายภาพต่างๆ
Q: สังเกตอาการเจ็บปวดของร่างกายตัวเองอย่างไร ว่าต้องไปพบแพทย์โดยด่วน
โดยปกติอาการเจ็บปวดที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เมื่อเรานอนพักเปลี่ยนพฤติกรรม หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยตนเองแล้ว ควรจะหายหรือดีขึ้น แต่หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบางอย่าง เช่น มีอาการชาร่วมด้วย ปวดร้าวลงแขน-ขา อาจมีการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม การพบแพทย์ตั้งแต่เบื้องต้น นอกจากจะทำให้ทราบสาเหตุของอาการตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว การรีบรักษาให้หายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้ไม่พัฒนากลายเป็นการปวดเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้น
Q: ช่วงสถานการณ์โควิด ไม่อยากไปโรงพยาบาล ปวดหลังจากการนั่งทำงานผิดท่า ซื้อยากินเองจะเป็นอันตรายไหม
โดยปกติแนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อน อย่างไรก็ตามหากมีอาการไม่รุนแรง อาจจะทานยาลดปวดชนิดที่ออกฤทธิ๋ไม่รุนแรง เช่น ยาพาราเชตามอน พักการใช้งานในตำแหน่งที่ปวด ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนได้ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
Q: อุปกรณ์เสริมต่างๆ ในท้องตลาดควรซื้อมาใช้หรือไม่ เช่น สายรัดไหล่หลังตรง เบาะรองหลัง
อุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยลดอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอุปกรณ์บางอย่างไม่ได้มีหลักฐานว่าสามารถลดการปวดได้ เช่น สายรัดดึงไหล่ให้หลังตรง ไม่ส่งผลในการช่วยลดปวด ยกเว้นทำให้ท่าทางดูดีขึ้น และช่วยยืดกล้ามเนื้อที่หดตึงได้บ้าง