บทความ /

ไม่ต้องเป็นนักกีฬา ก็ใช้เวชศาสตร์การกีฬารักษาอาการบาดเจ็บได้

ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอาชีพ มือสมัครเล่น หรือแค่คนที่ชอบออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ต่างก็มีโอกาสบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ฝึกซ้อม หรือออกกำลังกายได้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่า หากเป็นอะไรขึ้นมาก็แค่ไปรักษาในโรงพยาบาลตามปกติก็ได้ แต่ในปัจจุบันการเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวงการกีฬาต่างประเทศ สาเหตุเป็นเพราะเวชศาสตร์การกีฬามีความสำคัญกับนักกีฬาและคนออกกำลังกายมากโดยที่เราอาจไม่รู้มาก่อน

เวชศาสตร์การกีฬาคืออะไร?

เวชศาสตร์การกีฬา คือ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ส่งเสริม วินิจฉัย และรักษา ฟื้นฟู สภาพร่างกายของนักกีฬาทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น ตลอดจนผู้ที่ออกกำลังกาย ให้มีศักยภาพร่างกายที่ดีที่สุด โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์เฉพาะทางหลาย ๆ ด้าน รวมกัน อาทิ ความรู้เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ด้านการกายภาพบำบัด ด้านโภชนาการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือสามารถทำให้ผู้ป่วยหายบาดเจ็บกลับมาเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้เหมือนเดิมโดยเร็ว ด้วยสมรรถภาพร่างกายที่คงเดิม หรือดีกว่าเดิม

ประโยชน์ของเวชศาสตร์การกีฬา

เหตุผลที่ทำให้ในปัจจุบันเวชศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการกีฬา และกลุ่มคนที่ออกกำลังกายอย่างจริงจังมากขึ้นนั้น เพราะประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้าน ดังต่อไปนี้

ช่วยเสริมแกร่งสมรรถภาพร่างกายให้ดีขึ้น

ในปัจจุบันการจะมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี หรือมี Good Performance ที่ทำให้การเล่นกีฬามีประสิทธิภาพ มีโอกาสชนะมากขึ้นนั้น ไม่ได้อาศัยเพียงแค่การฝึกซ้อมทักษะอย่างหนักให้เก่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความรู้ทางเวชศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยด้วย เช่น ต้องทานอาหารแบบไหน วางแผนโภชนาการอย่างไรเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอต่อการเล่นกีฬาในแต่ละชนิดที่ใช้พลังงานแตกต่างกัน หรือควรต้องออกกำลังกายแบบใดบ้าง ต้องจัดโปรแกรมฝึกแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic) มากแค่ไหน ต้องจัดโปรแกรมฝึกแบบแอโรบิค (Aerobic) เป็นสัดส่วนเท่าไร จึงจะเพียงพอต่อการเสริมแกร่งร่างกายให้แข็งแรงเหมาะสมกับชนิดกีฬา หรือรูปแบบการออกกำลังกายที่เป็นเป้าหมาย เป็นต้น

ช่วยรักษาฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การหยุดเล่นกีฬาเพราะอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอาชีพเพียงไม่กี่วัน อาจทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่ออกกำลังกายด้วยความมุ่งมั่น การบาดเจ็บที่ทำให้กลับคืนสู่สนามได้ช้า ก็บั่นทอนจิตใจและสมรรถภาพร่างกายให้ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เอง เวชศาสตร์การกีฬาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะการกายภาพบำบัด และการฟื้นฟูแบบองค์รวม สามารถช่วยให้หายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น กลับคืนสู่สนามแข่งขันและการออกกำลังกายได้ไวขึ้น โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัด เพราะมีเครื่องมือใหม่ ๆ และวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมากมายเป็นทางเลือก อาทิ การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy) ใช้บำบัดอาการปวดที่กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาท การบําบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) เพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในการหายใจ และการฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้เกร็ดเลือดในการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ แทนการฉีดสเตียรอยด์ ซึ่งนอกจากจะทำให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากสเตียรอยด์ ที่ส่งผลต่อการเสื่อมของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในระยะยาวได้อีกด้วย

ช่วยป้องกันให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ยากขึ้น

เวชศาสตร์การกีฬา มีแนวทางในการออกกำลังกายที่เฉพาะเจาะจง ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแข็งแรงได้มากขึ้นอย่างถูกจุด ซึ่งเมื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อได้เหมาะสมกับชนิดของการเล่นกีฬาแล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บลงได้ ยกตัวอย่างเช่น Hamstring Injury หรืออาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง ใกล้กับข้อพับเข่า เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักวิ่ง หรือผู้ที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วในการเคลื่อนที่สูง ทีมเวชศาสตร์การกีฬาก็จะมีท่าทางการบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนนี้ให้แข็งแรงขึ้น จนลดโอกาสในการบาดเจ็บให้เหลือน้อยลงได้

ใครบ้างควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา?

แม้จะเรียกว่าเวชศาสตร์การกีฬา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้คำปรึกษาและรักษาปัญหาสุขภาพเฉพาะแค่กับนักกีฬาเท่านั้น โดยผู้ที่เหมาะสม และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ได้แก่

  • ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพ แต่มีเป้าหมายในการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายที่จริงจัง เช่น อยากลงวิ่งมาราธอนโดยที่ยังไม่เคยวิ่งมาก่อน ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาก่อนสักครั้ง เพื่อตรวจสภาพความพร้อมของร่างกาย ประเมินความเสี่ยงว่า สามารถที่จะออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมโปรแกรมฝึกเฉพาะตัวได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และพาให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  • ผู้ที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา แล้วเคยเกิดอาการบาดเจ็บบ่อยๆ บาดเจ็บซ้ำๆ บริเวณเดิมเรื้อรัง และยังมีเป้าหมายในการอยากออกกำลังกาย และเล่นกีฬาอยู่ ควรได้รับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และรักษาให้สามารถกลับมาเล่นกีฬา ออกกำลังกายได้อย่างเต็มสมรรถภาพ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีเป้าหมายในการออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในการรักษา เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำตาลในกรณีคนไข้โรคเบาหวาน เป็นต้น การได้เข้าพบแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา จะช่วยทำให้สามารถวางแผนการออกกำลังกายได้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และวัตถุประสงค์มากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ออกกำลังกายได้มากขึ้น

สำหรับนักกีฬาอาชีพ และคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา ชอบออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจนั้น ไม่มีใครอยากบาดเจ็บ จนต้องหยุดเล่น และหากเมื่อได้รับบาดเจ็บ ก็ล้วนต้องการหายเจ็บ ฟื้นฟูร่างกายตนเองกลับมาทำกิจกรรมที่รักให้ได้เร็วที่สุด ด้วยสมรรถภาพร่างกายที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้เองเวชศาสตร์การกีฬาจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ ให้ทุกเป้าหมายในการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายของทุกคน ยังคงได้รับการสานต่อ และเติมเต็มให้ประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่ขาดฝันเป็นอุปสรรคขัดขวางระหว่างทาง

Tue, 21 Sep 2021
แท็ก
เวชศาสตร์การกีฬา
นักกีฬา
Related doctors

Related packages
บทความอื่นๆ
ทำไมต้องเสริมสมรรถภาพทางกายในการเล่นกีฬา?
[ถาม-ตอบ] อยากเริ่มวิ่งเทรล ต้องทำยังไง?
กล้ามเนื้อของคุณแข็งแรงแค่ไหน? ทดสอบด้วยตนเองง่ายๆ ในท่า Push Up
ไม่ต้องเป็นนักกีฬา ก็ใช้เวชศาสตร์การกีฬารักษาอาการบาดเจ็บได้
top line

Login