บทความ /

โรคกระดูกสันหลังคด ปัญหาที่ควรได้รับการรักษา

กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนัก และเชื่อมโยงเส้นประสาทจากสมองไปถึงเชิงกราน เมื่อมองจากด้านหน้า กระดูกสันหลังจะเรียงเป็นแนวเส้นตรง หากมองจากด้านข้าง กระดูกสันหลังจะมีความโค้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ 

แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกสันหลังคด เมื่อมองจากภาพถ่ายรังสีแล้ว จะเห็นกระดูกสันหลังคดเอียงทำมุมมากกว่า 10 องศา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอาการที่ควรพบแพทย์ ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงได้รวบรวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกระดูกสันหลังคด ไม่ว่าจะเป็น อาการกระดูกสันหลังคด สาเหตุกระดูกสันหลังคด การรักษากระดูกสันหลังคด รวมไปถึงวิธีการสังเกตเบื้องต้นมาให้อ่านกัน 

สาเหตุการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด

สาเหตุการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่สามารถเกิดได้ในทุกวัย และเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ดังนี้ 

1. ความผิดปกติของการเจริญเติบโตกระดูกสันหลังแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่ก่อนคลอด โดยเป็นความผิดปกติจากพัฒนาการของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างของกระดูกสันหลังเพียงด้านเดียว หรือการสร้างของกระดูกสันหลังที่ไม่แยกจากกัน ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกระดูกสันหลังคดในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติมาก ผู้ป่วยมักจะต้องรีบเข้ารับการรักษา

2. ความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่เกิดจากโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อของคนไข้ที่มีความผิดปกติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลต่อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคด ที่พบบ่อย เช่น คนไข้มีอาการขาดเลือดทางสมองแต่กำเนิด (Cerebral Palsy) ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดตอนโตได้ หรือคนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Dystrophy) สามารถทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้

3. ความเสื่อมของข้อกระดูก (Degenerative Scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยสาเหตุกลุ่มนี้เกิดจากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังด้านซ้ายกับขวาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการทรุดตัวของข้อกระดูกสันหลังด้านซ้ายขวาไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด

4. กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้เด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยกลุ่มนี้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ไม่พบความผิดปกติของกระดูก หมอนรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ การวินิจฉัยกระดูกสันหลังคดในเด็กกลุ่มนี้จะวินิจฉัยโดยต้องค้นหาสาเหตุอื่นๆ ก่อน โดยถ้าไม่พบความผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ ข้างต้น จะจัดผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดในเด็กเข้าในกลุ่มนี้

กระดูกสันหลังคดเกิดขึ้นในคนกลุ่มไหนได้บ้าง

กระดูกสันหลังคดเกิดขึ้นในคนกลุ่มไหนได้บ้าง

กระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่สามารถเกิดอาการขึ้นได้กับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็จะมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาอาการกระดูกสันหลังคดต่างกันไป 

  • ในเด็กเล็ก (0-5 ปี) มักจะเกิดจากปัญหากระดูกสันหลังคด ที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของกระดูก (Congenital Scoliosis) โดยกลุ่มนี้มักจะสังเกตได้ตั้งแต่อายุน้อย หรืออาจพบได้โดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เมื่อพบแล้ว ต้องหาความผิดปกติของระบบอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติของไต ความผิดปกติของหัวใจ เป็นต้น
  • ในวัยรุ่น (10-15 ปี) มักจะพบโรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) มากที่สุด โดยในช่วงที่เด็กกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น จะเป็นช่วงที่กระดูกจะเจริญเติบโตและเด็กจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่กระดูกสันหลังคดกลุ่มนี้จะมีมุมที่เพิ่มมากขึ้นได้เร็ว
  • ในผู้สูงอายุ (> 50 ปี) ส่วนใหญ่แล้วเกิดปัญหากระดูกสันหลังคด มาจากสาเหตุกระดูกสันหลังเสื่อม เนื่องจากข้อกระดูกที่ใช้งานมานานเกิดการเสื่อมสภาพ โดยเมื่อข้อกระดูกด้านซ้ายกับขวา เสื่อมสภาพไม่เท่ากัน หรือเกิดการทรุดของหมอนรองกระดูกไม่เท่ากัน จะส่งผลให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะพบภาวะกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย ซึ่งนอกจากอาการกระดูกสันหลังคดแล้ว ยังพบอาการจากโรคกระดูกทับเส้นประสาท เช่น ปวดหลัง และร้าวลงขา ขาชา อ่อนแรง ร่วมด้วย 
 กระดูกสันหลังคด ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร

กระดูกสันหลังคด ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร

กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย เมื่อเกิดปัญหากระดูกสันหลังคดแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ปัญหากระดูกสันหลังคดยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอาการอื่นๆ ของผู้ป่วยได้อีกด้วย 

  • ผลกระทบจากร่างกาย เมื่อแกนกระดูกสันหลังคดเอียง ส่งผลให้ลำตัวเอียงไปตามๆ กัน ยิ่งกระดูกสันหลังเอียงทำมุมมากขึ้น ร่างกายก็จะพยายามปรับตัวโดยการดึงให้แกนตัวกลับตรง ส่งผลให้กระดูกสันหลังปล้องข้างเคียงเกิดการคดเอียงเพิ่มเติมได้ในอนาคต

จากปัญหากระดูกสันหลังคดนี้ อาการข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยต้องพบเจอเพิ่มเติม คือ กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังช่วงอกคดมาก อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ปอดขยายได้น้อยลง ส่งผลให้คนไข้หายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยได้ง่ายยิ่งขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่กระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม อาจจะไปกดเบียดเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการที่เกิดจากการบดเบียดเส้นประสาทได้ เช่น ปวดร้าวลงขา ขาชา และขาอ่อนแรง ผู้ป่วยไม่สามารถเดินระยะทางไกลได้ เป็นต้น

  • ผลกระทบทางจิตใจ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจากกระดูกสันหลังคด ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนเกิดความกังวลและไม่มั่นใจ ด้วยอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกของผู้ป่วย
สัญญาณเบื้องต้นของปัญหากระดูกสันหลังคดที่สังเกตได้

สัญญาณเบื้องต้นของปัญหากระดูกสันหลังคดที่สังเกตได้

ลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังคดนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และสิ่งที่ร่างกายแสดงออกมาก็ต่างกันด้วย สำหรับลักษณะเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ไหล่ทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
  • ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเวลายืนหรือเดิน
  • สะโพกหรือเชิงกรานทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • แผ่นหลังหรือหน้าอกนูนไม่เท่ากัน
  • มองเห็นกระดูกสันหลังคดงอชัดเจน

การสังเกตอาการของโรคกระดูกสันหลังคดจากสัญญาณเบื้องต้น ถ้ากระดูกสันหลังคดไม่มาก อาจจะสังเกตด้วยตัวเองได้ยาก ต้องให้คนใกล้ตัวช่วยสังเกตลักษณะอาการของผู้ป่วยจากด้านหลัง โดยการตรวจที่เรียกว่า (Forward Bending Test) โดยให้คนไข้ก้มหลังแล้ว ให้สังเกตว่าหลังด้านซ้ายขวาจะนูนเท่ากันหรือไม่ หรือเอวทั้งสองข้างนูนเท่ากันหรือไม่ โดยปกตินั้น เมื่อก้มหลังแล้วสังเกตจากด้านหลัง ไม่ว่าจะช่วงอกหรือเอว ก็ควรจะอยู่ในระนาบเดียวกัน หากมีลักษณะของโรคกระดูกสันหลังคด เมื่อก้มหลังแล้ว หลังด้านซ้ายขวาจะนูนไม่เท่ากัน ดังรูป

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถสังเกตตัวเองได้จากลักษณะที่เปลี่ยนไปของร่างกาย ได้แก่ สะโพกหรือเชิงกรานที่ไม่เท่ากัน ไหล่ทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน หรือสังเกตตนเองขณะยืนหรือเดินก็ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยหาโรคกระดูกสันหลังคด

การวินิจฉัยหาโรคกระดูกสันหลังคด

เมื่อสังเกตอย่างคร่าวๆ แล้วสงสัยว่ามีปัญหากระดูกสันหลังคด ควรเข้าปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยและได้ผลการวินิจฉัยที่ชัดเจน สำหรับการวินิจฉัยหาโรคกระดูกสันหลังคดนั้น มีขั้นตอน ดังนี้

  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจความยาวของขาทั้งสองข้าง ตรวจไหล่ทั้งสองข้างว่าอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ ตรวจกระดูกสันหลังว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ การตรวจความผิดปกติทางระบบประสาท เพื่อตรวจหารอยโรคของไขสันหลังที่อาจพบร่วมกันได้ 
  • ต่อมาจะทำการส่งภาพถ่ายรังสี โดยหากพบมุมในภาพถ่ายรังสีที่คดเอียงมากกว่า 10 องศา แพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด 
  • หลังจากที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคดแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาต่อไป ว่ามีความจำเป็นต้องส่งตรวจอย่างอื่นต่อหรือไม่ เช่น การตรวจการทำงานของปอด (Pulmonary Function Test) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจหารอยโรคของไขสันหลัง และเส้นประสาท การตรวจสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจสอบขนาดของกระดูกสำหรับวางแผนการผ่าตัดให้ชัดเจนต่อไป
แนวทางในการรักษากระดูกสันหลังคด

แนวทางในการรักษากระดูกสันหลังคด

สำหรับแนวทางในการรักษากระดูกสันหลังคด จะประกอบด้วยทั้งหมด 3 วิธี ที่เรียกว่า 3O (สาม-โอ) มาจาก Observe, Orthosis และ Operation ซึ่งการรักษาแต่ละแบบขึ้นอยู่กับอาการและระดับความคดงอของกระดูก ดังนี้ 

  • Observe เป็นแนวทางในการรักษาที่จะคอยสังเกตอาการ และตรวจติดตามแบบซ้ำๆ สำหรับวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดที่มุมของกระดูกคดไม่ถึง 20 องศา โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการปวด และยังไม่พบความผิดปกติภายนอก
  • Orthosis เป็นการรักษากระดูกสันหลังคดโดยการใส่อุปกรณ์ประคองหลัง หรืออุปกรณ์ค้ำจุนหลัง วิธีการรักษานี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และมีมุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 20 องศาขึ้นไป โดยเป้าหมายของการใส่อุปกรณ์ประคองหลังมีเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อให้กระดูกสันหลังหายคด 
  • Operation เป็นการรักษากระดูกสันหลังคดด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัด เพื่อจัดกระดูกสันหลังให้ตรงไม่คดหรืองอ และใส่สกรูเพื่อยึดกระดูกสันหลังและเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีมุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40 องศา หรือในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดมาก และแกนกระดูกสันหลังเอียงมาก จนทำให้เดินตัวเอียง

สรุป

โรคกระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งกระดูกสันหลังคด อาการหรือสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ทั่วไปมีหลายอย่าง เช่น สะโพกไม่เท่ากัน ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อก้มลงแล้วสังเกตเห็นว่าหลังด้านซ้ายและขวาสูงไม่เท่ากัน เป็นต้น ซึ่งแนวทางในการรักษากระดูกสันหลังคดนั้นขึ้นอยู่กับระดับของอาการ คนไข้ที่มีลักษณะอาการดังกล่าว หรือสงสัยว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด สามารถรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน และการวางแผนการดูแลสุขภาพหรือแนวทางการรักษาต่อไป

บทความโดย : รศ.นพ.กู้พงษ์ ศิริบำรุงวงศ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง

Thu, 16 Jun 2022
แท็ก
หลังคด
โรคกระดูกสันหลังคด
Related doctors
Assoc. Prof. Rattalerk Arunakul, M.D.
Assoc. Prof. Gun Keorochana, M.D.
Assoc. Prof. Weerasak Singhatanadgige, M.D.
Assoc. Prof. Koopong Siribumrungwong, M.D.
Asst. Prof. Sirichai Wilartratsami, M.D.
Jirachai Pisutbenya, M.D.

Related packages
Endoscopic Discectomy used to treat a herniated or slipped disc, resulting in smaller incision, less pain and faster recovery performed by a team of spine surgeons....
package 451,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
1-Level Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody Fusion Endoscopic (MIS TLF) to treat Lumbar Disc Herniation performed by a team of spine surgeons....
package 492,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
Treatment of spinal disorders using steroid injections into the spinal cavity, performed by a team of spine surgeons....
package 49,000* บาท
package สิ้นสุด 31/12/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกสันหลังคด ปัญหาที่ควรได้รับการรักษา
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
กระดูกสันหลัง “เสื่อม” หรือยัง ? สังเกตอาการเบื้องต้นกัน
รักษาโรคกระดูกเอวกดทับเส้นประสาทอย่างไร? ให้ “ตรงจุด ปลอดภัย และหายขาด”
หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่รักษาได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
top line