บทความ /

“นิ้วล็อก” โรคยอดฮิต รักษาผิด เสี่ยงบาดเจ็บเพิ่ม

นิ้วล็อก หรือ Trigger Finger ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการที่เราใช้มือทำกิจกรรมอย่างหนัก โดยมีการงอ เกร็ง เหยียดนิ้ว บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ด้วยความรุนแรง เอ็นจึงมีการเสียดสีจนเกิดการอักเสบบวมขึ้น ไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้สะดวก ซึ่งเมื่อเอ็นเกิดการอักเสบจนไปขัดกับปลอกหุ้มเส้นเอ็นแล้ว ก็จะเกิดอาการสะดุด เจ็บ หรือถ้าเป็นหนัก ๆ นิ้วก็จะล็อกติด ทำให้กำ หรือเหยียดนิ้วออกได้ไม่สุด และหากปล่อยทิ้งไว้นานเรื้อรัง ก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด

การรักษานิ้วล็อก ทำได้อย่างไรบ้าง?

แนวทางในการรักษาโรคนิ้วล็อกนั้นจะมีหลักการสำคัญเป็นขั้นตอนการรักษา ดังต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วอย่างไม่เหมาะสม

สิ่งสำคัญเริ่มต้นของการรักษาโรคนิ้วล็อก คือ ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งได้แก่กิจกรรมที่ต้องใช้มือหนัก ๆ ออกแรงมากๆ ต้องเกร็ง งอมือหรือนิ้วบ่อย ๆ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อ่านหนังสือ ถือของหนัก ๆ เป็นต้น เพราะหากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักแล้ว โอกาสในการรักษาให้หายก็จะยากขึ้น หรือถึงหายดีแล้วก็อาจกลับเป็นซ้ำได้อีก

ใช้ยาต้านการอักเสบ

นอกจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือให้เหมาะสมแล้ว ก็จะใช้การแช่น้ำอุ่นร่วมด้วย เพื่อการยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อนิ้ว ซึ่งหากทำแล้วยังไม่ดีขึ้น และมีอาการเจ็บปวด แพทย์จะให้รับประทานยาต้านการอักเสบ โดยหากหลังจากได้รับยาต้านการอักเสบแล้ว ก็ยังไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาฉีดยาลดการอักเสบชนิดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณที่บริเวณโคนนิ้วที่มีการอักเสบบวม

รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ในรายที่นิ้วล็อกรุนแรง ฉีดยาสเตียรอยด์แล้ว ได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้นแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะพิจารณาผ่าตัดรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งหลักการสำคัญของการผ่าตัดคือ การผ่าเข้าไปยังบริเวณรอยโรคเพื่อคลายปลอกหุ้มเอ็นออก ทำให้เอ็นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการเสียดสี ไม่มีสะดุดอีก กลับมาใช้งานนิ้วมือได้ตามปกติ ซึ่งก่อนการผ่าตัดนั้น ก็มักจะทำการให้ยาและมีการทำกายภาพบำบัดควบคู่กันไป

การผ่าตัดนิ้วล็อก มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?

การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนกังวล เพราะการผ่าตัดที่ใช้กันเป็นมาตรฐานนั้น จะผ่าตัดด้วยวิธีเปิดแผลเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วเข้าไปคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวขัดกันอยู่ให้คลายออก ซึ่งการผ่าตัดแบบเปิดแผลนี้จะทำให้แพทย์มองเห็นจุดที่เป็นปัญหาของโรคได้อย่างชัดเจน ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะผ่าตัดถูกเส้นประสาทบริเวณรอบ ๆ เสียหายได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง เจ็บน้อย และใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น โดยหลังผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้เลยทันที เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ป่วยนิ้วล็อกเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ก็อาจจะมีภาวะข้อติดยึดร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจต้องอาศัยการกายภาพบำบัดช่วยในช่วงแรกหลังผ่าตัด เพื่อให้ข้อที่ยึดติดอยู่คลายออก แต่ก็สามารถใช้มือทำกิจกรรมได้อย่างปกติเลยทันทีหลังผ่าตัดเช่นกัน

วิถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนติดโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต ที่มักพกถือติดมืออยู่ตลอดเวลา และใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหนักตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น หากสังเกตพบว่าตัวเราเองมีอาการผิดปกติที่นิ้วมือ อาทิ เจ็บบริเวณโคนนิ้ว เหยียดหรืองอนิ้วได้ไม่สุด รู้สึกสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อให้หากตรวจพบว่าเป็นนิ้วล็อกตั้งแต่เนิ่น ๆ จะรักษาได้หายเร็วกว่าโดยที่อาจยังไม่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเลยก็ได้

Sat, 18 Dec 2021
แท็ก
รักษานิ้วล็อก
เจ็บนิ้ว
ผ่าตัดนิ้วล็อก
นิ้วล็อก
Related doctors
Assoc. Prof. Thanapong Waitayawinyu, M.D.
Asst. Prof. Chinnakart Boonyasirikool, M.D.

Related packages
A minimally invasive surgery to relieve pressure on the median nerve in the wrist through a small incision. The procedure ensures that hand functionality remains unobstructed, resulting in fast recovery and full...
package 83,600* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
A surgical procedure to release finger’s tendon sheath, alleviating pain symptoms caused by Trigger Finger disease performed by a team of hand, wrist, and arm surgeons....
package 27,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
พังผืดทับเส้นประสาท
พังผืดทับเส้นประสาท โรคฮิตของคนใช้งานมือมากเกินไป ที่รักษาได้
“นิ้วล็อก” โรคยอดฮิต รักษาผิด เสี่ยงบาดเจ็บเพิ่ม
เจ็บข้อมือเรื้อรังไม่หาย ตรวจแบบส่องกล้องช่วยได้
รู้ยัง? เมื่อกระดูกข้อมือหัก ควรรักษากับ “หมอเฉพาะทางมือ”
top line

Login