เจ็บข้อมือเรื้อรังไม่หาย ตรวจแบบส่องกล้องช่วยได้
แทบจะไม่มีกิจกรรมใดเลยในชีวิตที่เราไม่ได้ใช้มือเป็นตัวช่วยในการดำเนินการ จะมีก็แต่ใช้มากหรือน้อยต่างกันเท่านั้น ด้วยเพราะทุกวันเราต้องใช้มือบ่อย ๆ อาการบาดเจ็บบริเวณข้อมือจึงเกิดขึ้นได้ง่าย และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนกับอาการเจ็บข้อมือเรื้อรัง ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งในปัจจุบันอาการบาดเจ็บหรือโรคข้อมือต่าง ๆ นั้น หากตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้วสงสัยว่าสาเหตุนั้นเกิดขึ้นภายในข้อมือแล้ว สามารถได้รับตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาด้วยการส่องกล้องข้อมือได้
Table of Contents
Toggleการส่องกล้องข้อมือคืออะไร?
ภายในข้อมือของคนเรานั้น จะประกอบไปด้วย กระดูก กระดูกอ่อน และเส้นเอ็นเล็ก ๆ ที่ทั้งหมดอาจบาดเจ็บได้ง่าย ๆ จากการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือจากอุบัติเหตุ การส่องกล้องข้อมือ หรือ Wrist Arthroscopy คือ การเจาะรูเล็ก ๆ ประมาณ 2-3 มม. ที่บริเวณข้อมือ แล้วส่องกล้องและเครื่องมือเข้าไป เพื่อตรวจสอบหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในข้อมือ สามารถมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของสาเหตุการบาดเจ็บได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ตรงจุด แก้ไขปัญหาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากสาเหตุภายในข้อมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การส่องกล้องข้อมือไม่ใช่แค่ใช้วินิจฉัยให้แม่นยำ แต่ใช้ช่วยทำการรักษาได้ด้วย
ในการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์ หรือ MRI บางทีอาจไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย เพราะภาพที่ได้อาจไม่ชัดเจนมากพอ การส่องกล้องข้อมือจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยวินิจฉัยถึงสาเหตุ และรอยโรคซึ่งอยู่ภายในข้อมือที่การตรวจเบื้องต้นไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด ให้แพทย์มองเห็นและวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังสามารถให้การรักษาในคราวเดียวกัน คือเมื่อตรวจเจอสาเหตุแล้วก็รักษาต่อเลยทันที เช่น ช่วยในการเย็บซ่อมเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ ช่วยในการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่อักเสบออก ช่วยในการผ่าตัดรักษาก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ หรือช่วยในการผ่าตัดจัดเรียงกระดูกข้อมือที่แตกหัก เป็นต้น วิธีนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีรอยโรคหรือการบาดเจ็บภายในข้อมือให้ได้ดียิ่งขึ้น
คนไข้กลุ่มไหนเหมาะกับวิธีวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องข้อมือ
คนไข้กลุ่มที่จะได้รับการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องข้อมือนั้น ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการเจ็บข้อมือเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ที่ได้รับการตรวจซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ และทำ MRI เบื้องต้นแล้ว สงสัยว่ามีรอยโรคภายในข้อมืออยู่ จึงทำการส่องกล้องข้อมือเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัด และทำการรักษาโรคได้เลยในทันทีในขณะส่องกล้อง ซึ่งโดยมากโรคที่พบก็เช่น เอ็นฉีกขาดภายในข้อมือ กระดูกข้อมือหัก และซีสต์ในข้อมือ เป็นต้น
สรุป
การปล่อยให้ข้อมือบาดเจ็บเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ถือเป็นการบั่นทอนคุณภาพชีวิตตัวเองให้มีความสุขน้อยลง ทำให้ไม่สามารถใช้ศักยภาพของมือได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หากพบอาการบาดเจ็บข้อมือเรื้อรัง ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หรือเคยได้รับการตรวจรักษาเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่หายดี การตัดสินใจเข้าพบแพทย์อีกครั้ง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัย ให้สามารถรักษาได้อย่าง ตรงจุด และกลับมามีมือที่หายดี ใช้งานได้อย่างเป็นปกติดังเดิม