บทความ /

ข้อไหล่เสื่อม โรคข้อใกล้ตัวที่ควรรู้เท่าทัน

หากกล่าวถึงโรคภัยที่เกี่ยวกับ “ข้อ” แล้ว “ข้อเข่าเสื่อม” ถือเป็นโรคที่ทุกคนรู้จักกันมากที่สุด เพราะพบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งทำให้หลายคนอาจเผลอลืมไปว่า นอกจากข้อเข่าแล้ว ในความเป็นจริงทุกข้อในร่างกายของคนเราก็มีโอกาสเสื่อม และเป็นอันตรายรบกวนการใช้ชีวิตได้เช่นกัน โดยหนึ่งในอีกโรคข้อที่พบได้บ่อยรองจากข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมนั้น ก็คือ “ข้อไหล่เสื่อม” ซึ่งไม่ได้พบแค่เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กับคนวัยทำงานทั่วไป รวมถึงคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาหนัก ๆ หากมีพฤติกรรมการใช้ไหล่อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เป็นโรคข้อไหล่เสื่อมก่อนเวลาอันควรได้

โรคข้อไหล่เสื่อมคืออะไร ?

ข้อไหล่เสื่อม เป็นโรคที่คล้ายกันกับภาวะเสื่อมของข้อชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่า ข้อหลัง หรือว่าข้อสะโพกเสื่อม ฯลฯ เกิดจากการที่ผิวข้อเสื่อมจนเสียสภาพปกติไป ซึ่งโดยปกติผิวข้อจะต้องลื่น เรียบ และมีน้ำหล่อลื่นข้างใน เพื่อให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อข้อไหล่เสื่อมลง ผิวข้อจะสึก ไม่เรียบ ไม่ลื่น และมีอาการติดขัด ทำให้ขยับเคลื่อนไหวได้แบบไม่เป็นปกติ และมีเสียงเกิดขึ้นในข้อเวลาขยับเคลื่อนไหว

เพราะสาเหตุใด จึงทำให้ข้อไหล่เสื่อม ?

สาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่เสื่อมนั้น แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

ปัจจัยปฐมภูมิ เป็นสาเหตุมาจากการใช้งานข้อไหล่มากเกินไป เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายหนัก เป็นต้น ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะเหมือนกับเครื่องจักรที่ใช้งานมานาน ก็จะมีอาการสึกและเสื่อมไปตามสภาพ

ปัจจัยทุติยภูมิ จะมีสาเหตุอื่น ๆ นำมาก่อนที่จะทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อม ถือว่าพบได้บ่อยกว่าการเสื่อมตามสภาพและการใช้งาน เพราะบริเวณไหล่ไม่ได้ประกอบด้วยเพียงแค่ผิวกระดูกอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่คลุมอยู่โดยรอบ จึงทำให้สามารถเกิดความผิดปกติในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดเลยคือ ภาวะเส้นเอ็นรอบไหล่เสื่อมฉีกขาด  ซึ่งเมื่อเส้นเอ็นมีปัญหา ในที่สุดก็จะทำให้ข้อไหล่มีความผิดปกติตามไปด้วย ทำให้เราไม่สามารถใช้ไหล่ได้เหมือนเดิม มีอาการอ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น จนสุดท้ายก็กลายเป็นข้อไหล่เสื่อมในที่สุด

สำหรับปัจจัยทุติยภูมิ หรือการมีสาเหตุอื่นเกิดก่อนจนนำมาสู่ภาวะข้อไหล่เสื่อมนั้น ก็ยังอาจเป็นผลมาได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการมีกระดูกงอกทับเส้น จนทำให้มีหินปูนมาเกาะเสียดสีกับเส้นเอ็นจนเปื่อยฉีกขาด เกิดจากอุบัติเหตุข้อไหล่หลุดซ้ำ ๆ จนข้อหลวม ตลอดจนจนเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ SLE หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงภัย โรคข้อไหล่เสื่อมที่สุด

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อไหล่เสื่อมที่สุดนั้น ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อไหล่มาก ๆ ในขณะเดียวกันในกลุ่มของนักกีฬา หรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ปัจจุบันก็พบได้บ่อยว่ามีภาวะข้อไหล่เสื่อมกันเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะหัวไหล่ของคนเราไม่ได้ถูกธรรมชาติออกแบบมาเพื่อให้ลงน้ำหนักมาก ๆ

ดังนั้น การที่นักกีฬาใช้ไหล่แบบหักโหม หรือออกกำลังกายเข้ายิมยกเวทหนัก ๆ จึงมีส่วนในการเร่งการเสื่อมของข้อไหล่ให้เกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้น ซึ่งโดยมาจะเป็นในแบบทุติยภูมิ หรือ มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นก่อน ไหล่หลุดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก่อน จนนำไปสู่ภาวะข้อไหล่เสื่อมในที่สุด

ข้อไหล่เสื่อมมีอาการอย่างไร สังเกตไว้เพื่อรีบป้องกัน

อาการสำคัญที่อาจเตือนว่าเรากำลังเสี่ยงเป็นโรคข้อไหล่เสื่อมอยู่นั้น สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ และจะปวดมากในตอนกลางคืน
  • เวลาขยับเคลื่อนไหวไหล่ จะเกิดมีเสียงดังก็อกแก็กในข้อ
  • มีอาการภาวะข้อติด ซึ่งสามารถสังเกตได้โดย ไม่สามารถยกแขนชิดหูได้ ยกแขนได้ไม่สุด หรือไม่สามารถเอามือไพล่ได้สุด เอื้อมมือไปเกากลางหลังไม่ได้ เอามือล้วงกระเป๋าหลังไม่ถึง ไม่ถนัด หรือในผู้หญิงคือไม่สามารถปลดตะขอเสื้อชั้นในได้

ทั้งนี้ สำหรับอาการ “ข้อไหล่ติด” ถือเป็นสัญญาณโดยรวมว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณไหล่ แต่สาเหตุจะเป็นจากข้อไหล่เสื่อมหรือไม่ จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในอาการที่ชวนให้สังเกต โดยหากพบว่ามีอาการข้อไหล่ติด ร่วมกับอาการปวดไหล่ ปวดตอนกลางคืน ขยับไหล่แล้วมีเสียง ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

วินิจฉัยได้อย่างไร จึงแน่ใจว่าข้อไหล่เสื่อม

ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคข้อไหล่เสื่อมหรือไม่นั้น สามารถทำได้ตามลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจสอบดูว่ามีลักษณะของการขยับแล้วเกิดเสียงในข้อไหล่หรือไม่ รวมถึงตรวจดูองศาในการเคลื่อนไหวของไหล่ ว่ามีอาการไหล่ติดมากน้อยเพียงใด ในขณะที่หากเป็นกลุ่มข้อไหล่เสื่อมจากปัจจัยทุติยภูมิ ก็จะมีการตรวจกำลังกล้ามเนื้อ เพราะหากมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย

2. หลังจากการซักประวัติตรวจร่างกายในเบื้องต้นแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ การทำเอ็กซเรย์ โดยแพทย์จะให้ถ่ายในท่าตรง ด้านข้าง และด้านกลางไหล่ โดยในการทำเอ็กซเรย์นี้ จะทำให้เห็นสภาพผิวกระดูกว่ามีความเสื่อม สึก หรือมีสิ่งผิดปกติ อาทิ มีกระดูกงอก ผิดรูปหรือไม่ รวมถึงยังทำให้เห็นด้วยว่าช่องในข้อไหล่แคบลงมากน้อยแค่ไหน โดยถ้าช่องข้อไหล่แคบลง โอกาสที่ไหล่จะติดขัด ขยับได้ไม่ลื่น ก็มีสูง ซึ่งก็สะท้อนถึงลักษณะที่บ่งบอกว่าข้อไหล่ได้เสื่อมแล้วนั่นเอง

3. นอกจากการตรวจเอ็กซเรย์แล้ว การตรวจในห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ ก็เช่น การตรวจ MRI ซึ่งจะใช้ตรวจเพื่อดูเส้นเอ็นรอบบริเวณข้อไหล่ ดูผิวกระดูก ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เอ็นรอบข้อไหล่ฉีกขาดมากแค่ไหน การตรวจ MRI จะใช้พิจารณาภาวะข้อไหล่เสื่อมแบบทุติยภูมิ ที่มีสาเหตุอื่นนำมาก่อนจะเกิดอาการข้อไหล่เสื่อม นอกจากนั้นแล้วก็ยังสามารถตรวจ CT Scan ได้ด้วย ซึ่งจะใช้สำหรับการตรวจดูว่ากระดูกข้อไหล่สึก เสื่อมสภาพไปมากน้อยแล้วแค่ไหน

ในการตรวจเพิ่มเติมตั้งแต่การเอ็กซเรย์ การทำ MRI และการตรวจ CT Scan จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อการส่งตรวจวินิจฉัยยืนยันสาเหตุได้อย่างแม่นยำมากที่สุด ทั้งนี้ สำหรับบางโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อมได้ อาทิ รูมาตอยด์ ก็จะต้องมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจระดับความอักเสบ หรือตรวจค่ารูมาตอยด์แฟคเตอร์ เพิ่มเติมด้วย

รักษาอย่างไร เมื่อข้อไหล่เสื่อม

เมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าข้อไหล่เสื่อม กระบวนการรักษาจะมีรูปแบบที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน 3 แนวทางหลัก ๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด (Conservative Treatment)

จะเป็นการรักษาเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่ได้รุนแรงมาก โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ การลดกิจกรรม เพื่อลดการใช้งาน อันนำไปสู่การลดอาการเจ็บปวด การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และในกรณีที่ไหล่ติดก็ต้องให้ทำการยืดเหยียดเพื่อให้ข้อที่ติดคลายออกให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วก็จะมีการฉีดยา อาทิ ฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ ฉีดน้ำหล่อลื่นที่บริเวณข้อ หรือ Hyaluronic Acid เพื่อเติมความหล่อลื่นให้กับข้อ ทำให้เสียงในข้อเบาลง และขยับเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้น

การผ่าตัดส่องกล้อง

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้อไหล่เสื่อมเพียงเล็กน้อย โดยแพทย์จะผ่าตัดส่องกล้องขนาดเล็ก ๆ เพียง 4 มิลลิเมตรเข้าไปในข้อ เพื่อเข้าไปซ่อมแซมเอ็นที่ฉีกขาด ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำให้ข้อไหล่เสื่อมมากขึ้นให้หายเป็นปกติ หรือ ส่องกล้องเข้าไปเพื่อเหลา หรือ กรอกระดูกที่งอกทับเส้นในคนไข้บางราย เพื่อแก้อาการไหล่ติดขัด ให้กลับมายกแขน ยกไหล่ ใช้งานแขนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในกรณีคนไข้บางรายที่มีเศษกระดูกอ่อนหลุดอยู่ในข้อ แพทย์ก็สามารถส่องกล้องเข้าไปล้างทำความสะอาด คีบเศษกระดูกอ่อนออกได้ ซึ่งลักษณะการรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องนี้ จะเป็นการจัดการกับสาเหตุของข้อไหล่เสื่อมแบบทุติยภูมิ ที่เข้าไปเคลียร์ความผิดปกติในข้อ ให้สามารถใช้งานได้ราบรื่นขึ้น และลดอาการติดขัดข้อไหล่ให้น้อยลง

การผ่าตัดข้อไหล่เทียม

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะข้อไหล่เสื่อมรุนแรง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • Anatomic Shoulder Arthropathy เป็นการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ทุกอย่างยังดีอยู่ มีเพียงผิวข้อเทียมเท่านั้นที่สึกเสื่อม โดยวิธีการผ่าตัดจะคล้ายกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ แพทย์จะผ่าตัดเพื่อทำครอบผิวที่บริเวณหัวข้อไหล่ใหม่ให้กลับมาลื่นเรียบอีกครั้ง ไม่ได้เปลี่ยนกลไกของข้อไหล่ ในส่วนของเบ้าข้อไหล่ที่สึก ก็จะเปลี่ยนเป็นโพลิเทอรีน เข้าไปฝังให้มีความลื่นเรียบเหมือนข้อไหล่ที่เป็นปกติ
  • Reverse Shoulder Arthropathy เป็นการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นขาดร่วมด้วยกับผิวข้อสึก แพทย์จะไม่ได้แค่ผ่าตัดเปลี่ยนผิวแค่อย่างเดียวแบบในแบบแรก เพราะแม้ผิวข้อจะกลับมาลื่นเรียบเป็นปกติ แต่หากเส้นเอ็นยังฉีกขาดแล้วไม่ได้รับการแก้ไข นานวันไปก็จะทำให้ข้อไหล่เสื่อมได้อยู่ดี ดังนั้น จึงต้องใช้การผ่าตัดข้อไหล่เทียมแบบพิเศษ ซึ่งเรียกว่า “ชนิดกลับด้าน” จะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนผิวให้เรียบ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงกลไกของข้อไหล่ใหม่ทั้งหมดในคราวเดียว โดยเปลี่ยนจากที่กระดูกที่เป็นหัวกลมให้กลายเป็นเบ้า และเปลี่ยนจากกระดูกที่เป็นเบ้าให้กลายเป็นหัวกลม ๆ แทน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ทำให้ไม่ต้องพึ่งเส้นเอ็นที่ขาดไปแล้ว เมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมายกไหล่ได้ ใช้งานไหล่ได้อย่างเป็นปกติ

ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เสื่อม จะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1.30 – 2 ชั่วโมง แล้วแต่ความยากง่ายของผู้ป่วยแต่ละราย เป็นการผ่าตัดเปิดกล้ามเนื้อเพื่อเข้าไปซ่อมแซมข้อไหล่ จึงทำให้ต้องอาศัยระยะเวลาในการพักฟื้นพอสมควร โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาฟื้นฟูแข็งแข็งแรง เส้นเอ็นเริ่มติดกับกระดูก และหลังจากนั้นก็ต้องทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วประมาณ 3-6 เดือนจึงสามารถกลับมาใช้ข้อไหล่ได้อย่างเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเป็นการผ่าตัดที่เสียเลือดไม่มาก และแผลมีขนาดเล็กเพียงแค่ประมาณ 7 เซ็นติเมตร ที่สำคัญคือ หากได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถผ่าตัดได้แบบไม่ต้องวางยาสลบ แต่ใช้การฉีดยาเข้าเส้นประสาท ทำให้รู้สึกชา และสะลึมสะลือ ซึ่งสามารถผ่าตัดได้โดยที่ไม่รู้สึกเจ็บปวด จึงช่วยทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดมยาสลบ ที่คนไข้หลาย ๆ คนกังวลลงได้

โรคข้อไหล่เสื่อม นับเป็นโรคใกล้ตัว ซึ่งเราทุกคนมีโอกาสเป็นได้เช่นเดียวกับโรคข้อเข่าเสื่อม ยิ่งสำหรับใครที่มีอาชีพที่ต้องยกของหนัก หรือใช้แขน ใช้ไหล่ในการทำกิจกรรมหนัก ๆ อยู่เสมอ อาทิ นักกีฬา หรือผู้ที่ชื่นชอบเล่นกีฬา ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อไหล่เสื่อมได้มากและเร็วกว่าปกติ ดังนั้น การทำความเข้าใจโรคข้อไหล่เสื่อม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควบคู่ไปกับการหมั่นสังเกตอาการข้อไหล่ตัวเองให้ดี หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวด ขยับแล้วมีเสียง หรือรู้สึกไหล่ติดขัด หรือเคยมีประวัติไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยไว้นานวันไป ความสึก เสื่อมก็จะยิ่งมากขึ้น และเป็นอันตราย รบกวนการใช้ชีวิตได้มากขึ้น

Mon, 07 Feb 2022
แท็ก
รักษาไหล่เสื่อม
ข้อไหล่ติด
ปวดไหล่
ไหล่เสื่อม
ผ่าตัดไหล่
เปลี่ยนข้อไหล่เทียม

Related packages
Minimally Invasive Surgery for knee joint injuries, for example, Anterior Cruciate Ligament (ACL) injuries or other related knee joint diseases performed by sports medicine and shoulder surgeons...
package 298,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
Arthroscopic shoulder surgery to treat rotator cuff tear, shoulder osteoarthritis , or other shoulder-related diseases by a team of sports medicine and shoulder surgeons....
package 367,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
ไหล่หลุด
ภาวะข้อไหล่หลุด สาเหตุคืออะไร? แก้ได้ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี
ข้อไหล่เสื่อม โรคข้อใกล้ตัวที่ควรรู้เท่าทัน
ข้อไหล่ติด ไปนวดแล้วหายไหม? มาบริหารหัวไหล่กันดีกว่า
ข้อไหล่ติด อาการที่ใครก็เป็นได้ และรักษาหายได้ด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี
top line

Login