บทความ /

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการ “ฉีดยาเข้าข้อเข่า”

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นหนึ่งในฝันร้ายของใครหลายคน เพราะไม่ว่าเพศไหนหรือแม้อายุยังไม่ถึง 60 ปี ก็สามารถเป็นกันได้ ซ้ำร้ายยังสร้างความรำคาญใจและทำให้วิถีชีวิตในประจำวันของเราเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่โชคดีที่ในปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษามากมายที่ช่วยให้อาการของโรคนี้ทุเลาลงได้ โดยหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือการฉีดยาข้อเข่าเสื่อม วันนี้ KDMS จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแนวทางการรักษานี้ พร้อมอธิบายถึงตัวยาและสารแต่ละประเภทที่ใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ปัจจุบัน

Table of Contents

อาการสำคัญที่ส่งสัญญาณว่าเป็น “โรคข้อเข่าเสื่อม”

รักษาอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดยาเข่าข้อเข่า

ในบรรดาอวัยวะต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ ข้อเข่าถือเป็นส่วนที่เปราะบางและมีโอกาสเสื่อมได้รวดเร็วที่สุด โดยสาเหตุหลักๆ เกิดขึ้นจากสมรรถภาพร่างกายที่เสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น หรือจากการออกแรงใช้ร่างกายอย่างหนักมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้การเสื่อมของข้อเข่าอาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ เพศ และโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือตึงบริเวณหัวเข่า โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินหรือขึ้นบันได ทำให้สามารถขยับเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้น้อยลง ในบางรายพบว่าจะมีอาการบวมหรือโก่งบริเวณหัวเข่าจนสังเกตเห็นได้ ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการที่เข่าทั้งสองข้างพร้อมกัน ยกเว้นกรณีที่ได้รับบาดเจ็บในเข่าข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาการของโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ อาการข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากลักษณะทางกายภาพที่ผิดปกติ และอาการที่เกิดจากการอักเสบของข้อเข่า

การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการฉีดยาเข้าข้อเข่า คืออะไร?

ฉีดยาเข่าข้อเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม

การรักษาด้วยวิธีการบำบัด การให้ยารับประทานและการปรับวิถีชีวิตประจำวัน เป็นวิธีการแรกๆ ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือเพิ่งเข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรก แต่ถ้าหากในรายที่ใช้วิธีการบำบัดตามธรรมชาติเหล่านี้แล้วยังไม่เห็นผล หรือมีอาการปวดมากขึ้นจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน แพทย์ก็มักจะแนะนำการฉีดยาข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและไม่ต้องพักฟื้นนานและสามารถเห็นผลหลังเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยมีแนวทางการรักษา 3 ประเภท ได้แก่

  • การฉีดสเตียรอยด์เข่า
  • การฉีดน้ำไขข้อเทียมหรือสารหล่อลื่นประเภทกรดไฮยาลูโรนิก
  • การฉีดเกล็ดเลือด PRP (Platelet-Rich Plasma)

โดยการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมแต่ละประเภทนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวินิจฉัยอย่างละเอียดของแพทย์ ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการนี้ ผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์สาเหตุของอาการปวดข้อเข่าของตนเองได้เบื้องต้น โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มสาเหตุ ได้แก่ การปวดที่เกิดจากอุบัติเหตุ การปวดที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า การปวดในข้อเข่าที่เกิดจากความเสื่อม และความเสื่อมจากการใช้งานมานานที่เกิดขึ้นกับอวัยวะนอกข้อ

ยาหรือสารที่ใช้ฉีดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบัน

ยาฉีดสเตียรอยด์

การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า

การฉีดสเตียรอยด์เข่า คือการฉีดยาสเตียรอยด์ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อร่างกายที่บาดเจ็บ ซึ่งยาประเภทนี้มักใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อเข่าที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบ ซึ่งมักจะพบอาการแดงร้อนของข้อ และพบอาการบวมที่เกิดจากเยื่อบุข้อเข่าที่อักเสบผลิตของเหลวออกมาสะสมในบริเวรข้อเข่าเป็นจำนวนมาก โดยยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าไปจะช่วยลดการอักเสบเฉพาะจุดในบริเวณข้อเข่า สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ลดอาการปวดอักเสบได้ภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง

การฉีดสเตียรอยด์เข่าเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรกของโรคที่ข้อเข่ายังไม่เสียหายหรือผิดรูปมาก และใช้รักษาเมื่อมีอาการปวดข้อเข่าจากการอักเสบมากจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยตัวยานี้จะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 6 ถึง 12 สัปดาห์ จำนวนการฉีดในแต่ละปีจะจำกัดอยู่ที่ 3 หรือ 4 ครั้ง แพทย์จะฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในข้อเข่า โดยการผสมสเตียรอยด์กับยาชา จึงทำให้ระหว่างการรักษาผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงอาการบีบหรือแสบร้อนได้ ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการออกฤทธิ์ของยา

ถึงแม้การฉีดสเตียรอยด์เข่าจะเป็นการรักษาที่ได้ผลชะงัด แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงตามมาในผู้ป่วยบางราย เช่นความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณข้อเข่าจากสารสเตียรอยด์ โอกาสติดเชื้อข้อเข่าเพิ่มขึ้น การระคายเคืองของเส้นประสาทที่เกิดจากเข็มและตัวยา หรือชั้นผิวบริเวณที่ฉีดบางลงและมีสีผิดปกติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีการติดเชื้อภายในหรือผิวหนังรอบๆ ข้อเข่า รวมถึงมีการซักประวัติแพ้ยาประเภทสเตียรอยด์ด้วย นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบว่าการฉีดสเตียรอยด์เข่าส่วนใหญ่มักจะได้ผลดีที่สุดในการฉีดครั้งแรกๆ เท่านั้น และการฉีดสเตียรอยด์เข่ายังไม่เหมาะในการรักษาในระยะยาว เพราะสเตียรอยด์จะเข้าไปรบกวนกระบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติของร่างกาย ดังนั้นหากผู้ป่วยมีประวัติการฉีดสเตียรอยด์เข่ามาระยะหนึ่งแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจเสนอให้เปลี่ยนแนวทางการรักษา

การฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid)

การฉีดน้ำไขช้อเทียม

การฉีดน้ำไขข้อเทียม คือการฉีดสารหล่อลื่นประเภทกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) หรือที่นิยมเรียกกันว่าน้ำไขข้อเทียม เข้าไปในช่องข้อเข่าโดยตรง โดยกรดไฮยาลูโรนิกที่ฉีดเข้าไปในข้อเข่านี้จะมีคุณสมบัติคล้ายกับส่วนประกอบทางธรรมชาติที่พบได้ในของเหลวในข้อเข่ามนุษย์ ทำหน้าที่เหมือนสารหล่อลื่นผิวข้อเข่า ดูดซับแรงกระแทก และช่วยให้พื้นผิวกระดูกอ่อนในข้อเข่าไม่เสียดสีกันรุนแรง นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบซึ่งช่วยทุเลาอาการปวดที่เกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ การฉีดกรดไฮยาลูโรนิกช่วยให้ข้อเข่าทำงานได้ดีขึ้น  เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว และใช้ข้อเข่าทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพมาก ใกล้เคียงปกติมากขึ้น

การรักษาด้วยการฉีดน้ำไขข้อเทียมเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมปานกลาง ยังเหลือกระดูกอ่อนผิวข้อทีดีอยู่ ใช้ยาแก้ปวดอักเสบแล้วแต่ยังช่วยลดอาการปวด ขัดข้อได้ไม่ดีมาก ข้อเข่าไม่ได้มีการอักเสบชัดเจนซึ่งเหมาะกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อรักษา อยู่ในระหว่างรอคอยการผ่าตัดหรือยังไม่พร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม  โดยความถี่ในการฉีดนั้นมีตั้งแต่การฉีดครั้งเดียวไปจนถึงการฉีดทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 ถึง 5 สัปดาห์ติดต่อกัน (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยาฉีดไฮยาลูโรนิก) โดยทั่วไปแล้วจะเห็นผลการรักษาได้ในช่วง 2 ถึง 4 สัปดาห์หลังฉีด และจะมีฤทธิ์คงอยู่ได้นานถึงประมาณ 3 ถึง 6 เดือน โดยสามารถฉีดซ้ำได้ตามความเหมาะสมของอาการและตามการวินิจฉัยของแพทย์ สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในขั้นรุนแรงที่ข้อเข่าเสื่อมเสียหายหรือข้อผิดรูปมาก แพทย์จะไม่แนะนำให้รับการรักษาประเภทนี้ เนื่องจากยาฉีดไฮยาลูโรนิกไม่สามารถเข้าไปออกฤทธิ์ในข้อที่เสื่อมเสียหายมากๆได้

ถึงแม้การฉีดน้ำไขข้อเทียมจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น อาการข้อเข่าบวมและปวดจากการอักเสบที่ไม่พึงประสงค์ในระหว่างการรักษา จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือข้อเข่า นอกจากนี้กรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้กันส่วนใหญ่มักสกัดมาจากสัตว์ปีกหรือหงอนของสัตว์ปีก จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่หรือสัตว์ปีก ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ถึงข้อจำกัดของตนเองก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้ง

การฉีดเกล็ดเลือด PRP / สารสกัดจากเลือด PRP

การฉีดเกล็ดเลือด PRP เข้าข้อเข่า

เกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma หรือ PRP) เป็นสารสกัดจากเลือดที่ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์มาระยะหนึ่งแล้ว ขั้นตอนทำโดยการนำเลือดของผู้ป่วยออกมาเข้าเครื่องปั่นความเร็วสูง เพื่อแยกเกล็ดเลือดออกจากเลือดส่วนอื่นๆ เกล็ดเลือดนี้จะมีสารที่มีคุณสมบัติในการเร่งการซ่อมแซมการหายของเนื้อเยื่อที่เกิดการบาดเจ็บ หลังจากนั้นแพทย์จะฉีดของเหลวส่วนที่เต็มไปด้วยเกล็ดเลือดนี้เข้าไปยังบริเวณข้อเข่าที่กระดูกอ่อนผิวข้อมีความเสียหาย หรือบาดเจ็บอยู่

โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการฉีดเกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น PRP จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเองและเกิดการสร้างเซลล์ใหม่เร็วขึ้น นอกจากนี้การฉีดเกล็ดเลือดสกัดเข้มข้นเข้าข้อเข่ายังช่วยยับยั้งการอักเสบ และกระตุ้นการหายของกระดูกอ่อนโดยสร้างเนื้อเป็นเยื่อใหม่ รวมถึงเพิ่มการผลิตของของเหลวหล่อลื่นตามธรรมชาติซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานของข้อเข่าได้ นอกจากนี้ยังสร้างโปรตีนที่ช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย

การฉีดเกล็ดเลือดรักษาเข่าเสื่อมเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุไม่สูงมาก และอยู่ในระยะเริ่มแรกของโรคที่กระดูกอ่อนยังเสียหายไม่มาก แต่มีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังชนิดที่ใช้วิธีการรักษาโดยการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบไม่ได้ผลที่ดีดี หรือใช้วิธีกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบหรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อเข่าแล้วไม่สำเร็จ ผู้ป่วยหลายรายที่เลือกวิธีนี้มักมีความไวต่อยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟนและไม่สามารถใช้วิธีการฉีดสเตียรอยด์เข่าได้ โดยในขั้นตอนการรักษา แพทย์จะฉีดเกล็ดเลือด PRP ในปริมาณเล็กน้อยลงในรอยต่อระหว่างข้อเข่า โดยอาจมีอาการบวมและปวดประมาณ 3 วันหลังจากการฉีด ซึ่งผู้ป่วยอาจจะได้รับการฉีดครั้งเดียวหรือหลายครั้ง และต้องเว้นระยะห่างเป็นสัปดาห์หรือเดือนขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ 

ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่แนะนำวิธีการฉีดเกล็ดเลือด PRP ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ที่กำลังมีอาการอักเสบและติดเชื้อในระยะลุกลาม ผู้ที่เป็นโรคเลือดหรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติที่ต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง หรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากนี้ก่อนรับการรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือการรักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์เข่าเป็นเวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์ และหยุดใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ รวมถึงห้ามกินยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นเวลา 5 วันก่อนทำการรักษา

ผลการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าข้อเข่า เพื่อรักษาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อม

การฉีดยาเข้าข้อเข่า

การฉีดยาข้อเข่าเสื่อมทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานั้น เป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นานมาก ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดและพักฟื้นเป็นเวลานานหลายเดือน ถ้าหากไม่มีผลข้างเคียงหลังจากการฉีดมากนัก ภายใน 2 หรือ 3 วันก็สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมยังเป็นตัวช่วยส่งเสริมแนวทางการรักษาด้วยวิธีการบำบัดตามปกติ โดยการใช้ตัวยาต่างๆ เข้ามากระตุ้นที่ข้อเข่าโดยตรงเพื่อลดการอักเสบ ลดอาการปวด และกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมตัวเอง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติยิ่งขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมควรทำในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ และควรทำการฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะการฉีดยาเข้าสู่ข้อเข่าโดยตรงนั้น อาจเป็นการนำเชื้อจากผิวหนังเเทรกซึมเข้าไปที่ข้อเข่าได้ รวมถึงอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้เข็มหรือตัวยาด้วย และที่สำคัญการฉีดยาเข้าข้อเข่านั้นช่วยให้ปัญหาทุเลาลงได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของโรค สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในอาการขั้นรุนแรงที่ใช้วิธีการบำบัดหรือฉีดยาเข้าข้อเข่ามาในระยะหนึ่งแล้วไม่เห็นผล ควรพิจารณาแนวทางการรักษาด้วยการผ่าตัดที่ให้ผลรวดเร็ว และสามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถฉีดยาได้อีกด้วย

ฉีดยาเข้าข้อเข่า ฉีดอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

การฉีดยาเข่าข้อเข่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

โรคข้อเข่าเสื่อมมักเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดโดยทันทีและไม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ จนกระทั่งผู้ป่วยเริ่มได้รับผลกระทบหรือมีอาการเบื้องต้นแล้วถึงจะเข้ามารับการรักษา ซึ่งในการวินิจฉัยนั้นโดยปกติแพทย์จะทำการตรวจข้อเข่าโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจดูภาพเอกซเรย์ข้อเข่า ในบางกรณีแพทย์อาจดูภาพสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อตรวจกระดูก เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนในข้อเข่า และเนื่องจากอาการปวดเข่าอาจเกิดโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายกับหลายโรค แพทย์จึงมักใช้วิธีการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อบ่งชี้โรค เช่น การตรวจหาภูมิคุ้มกันเพื่อแยกโรคข้อเข่าเสื่อมกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (RA) และการวิเคราะห์ของเหลวในข้อเข่าเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์หรือมีการติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการอักเสบบริเวณข้อเข่าหรือไม่

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือหลีกเลี่ยงการรักษาประเภทอื่นๆ และในการรักษาบางประเภทขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ฉีดภายในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ซึ่งการเตรียมความพร้อมทั่วๆ ไป คือ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความวิตกกังวลอาจใช้ยาต้านความวิตกกังวลร่วมด้วย เพราะหากผู้ป่วยมีสภาพจิตใจไม่คงที่ จะทำให้ระยะเวลาในการทำหัตถการนานขึ้นและอาจสร้างความเจ็บปวดมากขึ้น

ในวันที่เข้ารับการรักษาผู้ป่วยจะถูกจัดให้อยู่ในท่าที่แพทย์สามารถเข้าถึงข้อเข่าได้ง่าย และเพื่อป้องกันการติดเชื้อจะมีการทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการฉีดด้วยแอลกอฮอล์ หรือไอโอดีนก่อน โดยอาจจะใช้การอัลตราซาวด์เพื่อความแม่นยำในการฉีดและในบางกรณีแพทย์อาจฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ถ้าหากพบว่าข้อเข่ามีของเหลวสะสมมากเกินไป แพทย์จะทำการดึงของเหลวนี้ออกมาก่อนด้วยเข็มชนิดพิเศษ โดยขั้นตอนการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง เท่านั้น ยกเว้นในการฉีดเกล็ดเลือด PRP ที่จะมีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยและการสกัดร่วมด้วย โดยตลอดการรักษานั้นผู้ป่วยควรนั่งหรือนอนในท่าที่ผ่อนคลายเพื่อทำให้กระบวนการฉีดง่ายขึ้นและไม่เจ็บปวด ซึ่งในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยอาจถูกขอให้งอและยืดข้อเข่าหลายครั้งเพื่อช่วยกระจายตัวยา เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแพทย์จะนำเข็มออกและทำความสะอาดบริเวณที่ฉีดอีกครั้งและทำการพันผ้าพันแผล หลังจากนั้นแพทย์จะแนะนำแนวทางการดูแลตัวเองและข้อควรระวังต่างๆ ให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาเป็นไปตามที่คาดหวังและผู้ป่วยไม่ต้องรใช้เวลาในการพักฟื้นนาน

สำหรับผลลัพธ์หลังจากการฉีดสเตียรอยด์เข่า ผู้ที่ฉีดครั้งแรกมักจะเห็นผลการรักษาได้ภายใน 1 ถึง 2 วัน แต่สำหรับการฉีดสเตียรอยด์ครั้งหลังๆ หรือการฉีดยาประเภทอื่น ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนถึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนขึ้น ในการฉีดน้ำไขข้อเทียมและการฉีดเกล็ดเลือด PRP อาจจะต้องมีการนัดหมายเพื่อฉีดต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่เห็นผลเลยหลังจากเข้ารับการรักษา ซึ่งมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น ตัวยาที่ใช้ไม่เข้ากันกับผู้ป่วย หรือความเสียหายของข้อเข่าที่รุนแรงมาก ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและหาวิธีการรักษาแบบอื่นที่อาจเหมาะสมกว่าต่อไป

หลังฉีดยาข้อเข่าเสื่อม ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

หลังฉีดยาเข้าข้อเข่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร

หลังเข้ารับการฉีดยาข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยควรงดการใช้แรงหรือการทำกิจวัตรประจำวันที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในบริเวณข้อเข่าเป็นเวลา 2 ถึง 3 วัน หรือจนกว่าอาการระบมจากการฉีดยาจะหายไป ในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยสามารถประคบเย็นวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 10 ถึง 20 นาที เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมหลังฉีดได้ โดยแพทย์มักให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายภาพบำบัดด้วยการออกกำลังกายง่าย ๆ เพื่อสร้างและรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรค และสามารถชะลอหรือหยุดการเสื่อมของข้อเข่าได้

การฉีดยาข้อเข่าเสื่อมเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยควรประยุกต์แนวทางการรักษาระยะยาวประเภทอื่น ๆ เช่น การทำกายภาพบำบัด การลดน้ำหนัก และการปรับวิถีชีวิตร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงการปรับการกินให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำสะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมตัวเองได้โดยธรรมชาติ รวมถึงป้องกันการเกิดซ้ำของโรค นอกจากนั้นผู้ป่วยยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงยา สารกระตุ้น หรืออาหารที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่ข้อเข่า ถ้าหากผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตตามเดิมและไม่ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อาจส่งผลให้อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ กลับมาอีกครั้งจนกลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดลุกลามและเรื้อรัง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอีกต่อไป  

หวังว่าทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจแนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการฉีดยาข้อเข่าเสื่อมประเภทต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ควรจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถาบันทางการแพทย์ที่น่าเชื่อและสามารถไว้ใจในการเข้ารับการรักษาและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่นและกำลังใจในการรักษาโรคนี้เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน

บทความโดยทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่าข้อสะโพกเทียม

รศ.นพ.ระพีพัฒน์ นาคบุญนำ
นพ.ณพล สินธุวนิช
ศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช (ที่ปรึกษา)

คำถามที่พบบ่อย

การฉีดยาเข่าข้อเข่าเพื่อการรักษาข้อเข่าเสื่อมคืออะไร?

การฉีดยาเข้าข้อเข่า เป็นอีกทางเลือกที่ในการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและไม่ต้องพักฟื้นนานและสามารถเห็นผลหลังเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ฉีดยาเข้าข้อเข่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือหลีกเลี่ยงการรักษาประเภทอื่นๆ และในการรักษาบางประเภทขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ฉีดภายในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ซึ่งการเตรียมความพร้อมทั่วๆ ไป คือ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส

หลังฉีดยาข้อเข่าเสื่อม ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

ผู้ป่วยควรงดการใช้แรงหรือการทำกิจวัตรประจำวันที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในบริเวณข้อเข่าเป็นเวลา 2 ถึง 3 วัน หรือจนกว่าอาการระบมจากการฉีดยาจะหายไป ในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยสามารถประคบเย็นวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 10 ถึง 20 นาที เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมหลังฉีดได้

Tue, 07 Sep 2021
แท็ก
ข้อเข่าเสื่อม
เข่าเสื่อม
ฉีดยาข้อเข่าเสื่อม

Related packages
Total Knee Arthroplasty  (TKA) on one side using MAKO robotic surgery technology performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 445,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
Hip Arthroplasty using MAKO robotic surgery technology to enhance precision in surgical procedures performed by a team of knee and hip replacement surgeons....
package 506,000* บาท
package สิ้นสุด 30/09/2024
บทความอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม
กระดูกสะโพกหัก โรคใกล้ตัวสูงวัยที่เราอาจมองข้าม
รวมโรคข้อเข่าที่คนชอบเล่นกีฬา ควรระวัง
แม่นยำ ปลอดภัย เมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
top line