บทความ /

หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่รักษาได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท เป็นอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา เพราะกระดูกสันหลังบริเวณนี้รับน้ำหนักมาก และมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะกว่ากระดูกสันหลังส่วนอื่นๆ ทำให้หมอนรองกระดูกอาจจะเกิดการแตกปลิ้นออกมาจนกดเบียดเส้นประสาท โดยจะมีอาการปวดหลังช่วงเอวต่อกับสะโพก ร่วมกับปวดร้าวลงขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมของขาหรือปลายเท้าร่วมด้วยได้

มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้คือการทำงานที่ต้องยกของหนัก น้ำหนักตัวมาก การสูบบุหรี่ การบิดตัวหรือก้มหลังอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นต้น

กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก

Table of Contents

ทำความรู้จักหมอนรองกระดูก มันคือส่วนไหนในร่างกาย และทำหน้าที่อะไร

แนวกระดูกสันหลังของคนเราจะประกอบไปด้วยตัวกระดูก และมีหมอนรองกระดูกที่คั่นอยู่ในแต่ละชั้น โดยหน้าที่ของหมอนรองกระดูกคือช่วยในการรับน้ำหนักของร่างกาย เหมือนเป็นตัวประคองระหว่างชั้นของกระดูกสันหลังเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น

แม้จะมีชื่อว่าหมอนรองกระดูก แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างส่วนใหญ่ของมันประกอบด้วยน้ำ คอลลาเจน และส่วนประกอบอื่นๆ เช่น โปรตีน ซึ่งหากดูตามภาพจะเห็นว่าโครงสร้างภายในจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

โครงสร้างหมอนรองกระดูกสันหลัง

1. Nucleus pulposus

Nucleus pulposus คือแกนกลางหมอนรองกระดูก โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นคอลลาเจนกับน้ำที่มากถึง 80% ทำหน้าที่รับแรงกระแทก และช่วยกระจายแรงของนํ้าหนักตัวที่ส่งผ่านมายังกระดูกสันหลังแต่ละข้อในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย


2. Annulus fibrosus 

Annulus fibrosus คือโครงสร้างเนื้อเยื่อโดยรอบที่คอยห่อหุ้ม Nucleus pulposus ด้านในไม่ให้ปลิ้นออกมา มีหน้าที่ทำให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับแรงในแนวบิด หมุน เอียง หรือก้มเงยได้ดี 

นอกเหนือจากเรื่องลักษณะโครงสร้างแล้ว ความพิเศษอย่างหนึ่งของหมอนรองกระดูกคือมันเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่ไม่มีเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงโดยตรงเพื่อแลกเปลี่ยนสารอาหาร ออกซิเจน และของเสีย แต่จะใช้แรงดันของกระดูกที่กดมาที่ตัวหมอนรองกระดูกขณะที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในการแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างกัน ส่งผลให้กระบวนการซ่อมแซมตัวเองของมันไม่ค่อยดีนัก จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อใดก็ตามร่างกายของเรามีอาการหมอนรองกระดูกปลิ้น นั่นหมายความว่ามันอาจเป็นจุดเริ่มต้นความเสื่อมของกระดูกสันหลังแบบหนึ่ง

สาเหตุของหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ในประคองและกระจายแรงในการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังโดยตรง เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงหลักๆ จะเน้นไปในเรื่องการรับน้ำหนักและความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นออกมา ดังนี้

1. น้ำหนักตัวมาก

เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมาก กระดูกสันหลังก็ต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย

2. การใช้งานที่ไม่เหมาะสม

เช่น ก้มหลัง ยกของหนัก เพราะท่าทางเหล่านี้เป็นการเพิ่มแรงดันที่หมอนรองกระดูกค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะเกินความทนทานที่หมอนรองกระดูกรับได้ จนกระทั่งเกิดการแตกปลิ้นออกมา

3. การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน และมักจะมีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทในบริเวณช่วงเอวมากที่สุด เพราะเวลาที่นั่งนานๆ กระดูกสันหลังส่วนนั้นจะรับน้ำหนักแบบเต็มๆ  

4. การไอหรือจามแรงๆ

เป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มแรงดันอย่างฉับพลันในหมอนรองกระดูก

5. คนที่สูบบุหรี่จัด

บุหรี่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยอันควร และทำให้หมอนรองกระดูกเกิดการแตกปลิ้นได้มากขึ้น

การเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทมี 3 รูปแบบ

1. Protusion

ตัวนิวเคลียสด้านในมีการทะลักออกมา โดยที่ขอบด้านนอกยังไม่เกิดการฉีกขาด

2. Extrusion

ขอบด้านนอกมีการขาดออก และมีนิวเคลียสทะลักออกมาโดยที่ยังติดกับด้านในอยู่ ไม่ได้หลุดออกมาเป็นชิ้นอิสระ

3. Sequestration

ขอบด้านนอกมีการขาดออก โดยที่นิวเคลียสมีการปลิ้นหลุดออกมาเป็นชิ้นอิสระจากด้านใน 

อาการปวดในช่วงแรกจะค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ ปริมาณการกดทับของเส้นประสาท และการอักเสบจากการแตกปลิ้นของหมอนรองกระดูก คนไข้ประมาณ 80% ที่ทำการรักษาอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน4-6 สัปดาห์ แต่จะมีส่วนที่เหลือที่อาการอาจจะไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทมาก ซึ่งอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด

เมื่อเป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท ทำไมถึงรู้สึกปวดร้าวลงขาเพียงข้างเดียว

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หากดูตามภาพประกอบ จุดที่วงกลมในภาพจะเป็นบริเวณที่หมอนรองกระดูกสันหลังมักจะปลิ้นออกมาทางด้านข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่าที่จะปลิ้นออกมาตรงกลาง ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทพาดผ่านอยู่ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทส่วนใหญ่จะมีอาการปวดร้าวชาลงขาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง

ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท

โดยปกติแพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติและตรวจร่างกายก่อน ซึ่งเฉพาะสองขั้นตอนนี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้เบื้องต้นแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทหรือไม่

แต่เพื่อความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายด้วยเครื่องถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อให้ได้ผลยืนยันออกมาชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการทำ MRI จะเห็นโครงสร้างของหมอนรองกระดูกสันหลังและเส้นประสาทได้ชัดเจน ทำให้สามารถบอกได้ว่ามีการกดทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งใดมากน้อยแค่ไหน เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท


แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท

1. รักษาด้วยการใช้ยา 

การรักษาด้วยการใช้ยาจะเป็นการจ่ายยาตามโรคของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดการอักเสบ, ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดความปวดของระบบประสาท เป็นต้น 

นอกจากยารับประทานแล้วก็ยังมีทางเลือกหนึ่งคือการฉีดยาระงับปวดลดอาการอักเสบที่เส้นประสาท วิธีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำ MRI เพื่อหาตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทอยู่ จากนั้นจะฉีดยาเข้าไปในบริเวณใกล้กับเส้นประสาทที่โดนหมอนรองกระดูกกดทับ โดยใช้เครื่อง X-Ray เป็นตัวบอกตำแหน่ง เพื่อลดอาการปวดและอักเสบของเส้นประสาท 

2. รักษาโดยไม่ใช้ยา

กายภาพบำบัด 

การกายภาพบำบัด เช่น การนวด อัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์ รวมไปถึงการทำช็อกเวฟเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารยืดเหยียดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย 

แพทย์จะวิเคราะห์จากการซักประวัติว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง และควรแก้ไขอย่างไร

3. รักษาด้วยการผ่าตัด 

วิธีนี้จะเกิดขึ้นในกรณีของผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาในสองรูปแบบข้างต้นมาแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดสำหรับโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท จะมีดังต่อไปนี้

1. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกแบบเปิดแผล (Open discectomy)

เป็นวิธีการผ่าตัดแบบเริ่มแรกตั้งแต่สมัยก่อน โดยจะเป็นการเปิดแผลในบริเวณที่หมอนรองกระดูกถูกกดทับในความกว้างประมาณ 7-8 เซนติเมตร เพื่อที่จะนำหมอนรองกระดูกที่ถูกกดทับอยู่ออกไป 

2. การผ่าตัดโดยหมอนรองกระดูกโดยใช้กล้องกำลังขยายสูง (Microscopic discectomy)

วิธีนี้จะช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลงเหลือเพียง 2-3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะมีตัวช่วยเป็นกล้อง Microscope ที่มีกำลังขยายมากกว่าปกติ 20-100 เท่า ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดของเส้นประสาทอย่างชัดเจนมาก โดยไม่จำเป็นเปิดแผลกว้างเหมือนการผ่าตัดแบบปกติ 

3. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Endoscope (Endoscopic discectomy) 

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Endoscope เป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง Endoscope โดยแพทย์จะทำการเจาะรูสอดท่อขนาดเล็ก และสอดอุปกรณ์เข้าไปเพื่อทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกออกมา ซึ่งวิธีนี้จะทำให้แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กมากเพียง 8 มิลลิเมตรเท่านั้น 

การพัฒนาวิธีการผ่าตัดที่ทำให้แผลเล็กลงนั้น นอกจากแผลที่เราเห็นจากภายนอกจะเล็กลงแล้ว ข้อดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าขนาดแผลคือ กล้ามเนื้อหลัง กระดูกสันหลังส่วนที่ดีอยู่ก็จะบาดเจ็บจากการผ่าตัดลดลง ทำให้เสียเลือดน้อยลง ความเจ็บหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีปกติ กลับมาลุกยืนเดินได้ทันทีหลังผ่าตัดในวันแรก ทำให้เวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว

กล่าวโดยสรุปคือ โรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทนั้น อาจพูดได้ว่าปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้งานแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหนทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ เพราะเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระกระดูกสันหลังของเราได้แล้ว 

Q&A

Q: หลังการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหน

หลังจากผู้ป่วยทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว อาการปวดร้าวลงขาจะดีขึ้นทันที ส่วนอาการชาหรืออ่อนแรงจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะเริ่มกลับไปทำกิจกรรมเบาๆ ได้ เช่น นั่งทำงาน ขับรถ เดินยืนระยะไกลๆ ได้ แต่ยังต้องหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการก้มเงยหลังมากๆ ไปก่อน ส่วนการใช้งานแบบเต็มรูปแบบ ทั้งการทำงานปกติและออกกำลังกาย จะสามารถทำได้ภายใน 6-8 สัปดาห์ 

Q: เคยเป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทมาแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกไหม

จากการศึกษาพบว่ามีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกหลังผ่าตัด 10-15% ทั้งนี้ เราสามารถลดความเสี่ยงของโอกาสที่จะเป็นซ้ำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้งานหลังที่ไม่ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการก้มหลัง ยกของหนักๆ การสูบบุหรี่ และต้องพยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากจนเกินไป เพื่อลดแรงดันที่จะเกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูก

Q: ทำไมการนั่งหลังค่อมหรือก้มหลังยกของจึงส่งผลเสียต่อหมอนรองกระดูก?

จริงๆ แล้วในทุกๆ การเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะนั่ง เดิน ยืน หรือนอน กระดูกสันหลังที่เป็นแกนกลางของร่างกายกำลังทำหน้าที่รับน้ำหนักของเราอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าถ้าเราทำกิจวัตรประจำวันในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง กระดูกสันหลังก็จะทำงานมากขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการปวดหลังตามมา

เคยมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่าท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราส่งผลต่อการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่าหากเรายืนหลังตรงปกติ กระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักเต็มๆ ที่ 100% อยู่แล้ว แต่หากอยู่ในท่านั่ง กระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักมากขึ้นไปอีกที่ 140-185% นั่นเป็นเพราะน้ำหนักทั้งตัวไม่ได้ถูกแบ่งเบาไปที่ร่างกายท่อนล่าง แต่มากองรวมกันอยู่ที่ช่วงเอว ยิ่งถ้านั่งพร้อมกับยกของไปด้วย การรับน้ำหนักจะทวีคูณขึ้นไปที่ 275% เลยทีเดียว เมื่อกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมาก แน่นอนว่าหมอนรองกระดูกต้องได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นท่าทางที่ถูกต้องในการที่จะช่วยลดภาระให้การรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง คือการยืน เดิน นั่ง โดยพยายามให้หลังอยู่ในแนวตรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการลดแรงดันที่จะเกิดกับหมอนรองกระดูกของเรานั่นเอง

การปรับท่าทางเพื่อป้องกันโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น
Tue, 20 Jul 2021
แท็ก
หมอนรองกระดูกปลิ้น
หมอนรองกระดูกเคลื่อน
Related doctors
Asst. Prof. Sirichai Wilartratsami, M.D.
Assoc. Prof. Rattalerk Arunakul, M.D.
Assoc. Prof. Weerasak Singhatanadgige, M.D.
Assoc. Prof. Gun Keorochana, M.D.
Assoc. Prof. Koopong Siribumrungwong, M.D.
Jirachai Pisutbenya, M.D.

Related packages
Endoscopic Discectomy used to treat a herniated or slipped disc, resulting in smaller incision, less pain and faster recovery performed by a team of spine surgeons....
package 451,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
1-Level Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody Fusion Endoscopic (MIS TLF) to treat Lumbar Disc Herniation performed by a team of spine surgeons....
package 492,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
Treatment of spinal disorders using steroid injections into the spinal cavity, performed by a team of spine surgeons....
package 49,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
โรคกระดูกสันหลังคด ปัญหาที่ควรได้รับการรักษา
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
กระดูกสันหลัง “เสื่อม” หรือยัง ? สังเกตอาการเบื้องต้นกัน
รักษาโรคกระดูกเอวกดทับเส้นประสาทอย่างไร? ให้ “ตรงจุด ปลอดภัย และหายขาด”
หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่รักษาได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
top line

Login