รู้หรือไม่? นั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา อันตรายกว่าที่คิด
เวลานั่งทำงานนานๆ ไม่ว่าจะที่ออฟฟิศหรือการใช้ชีวิตแบบ Work From Home ในปัจจุบัน เชื่อว่าเราทุกคนมักจะนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขาเสมอไม่มากก็น้อยเพราะเป็นท่านั่งที่ให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย อีกทั้งหลายๆ คนยังรู้สึกว่าเป็นท่านั่งที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพทำให้ดูเท่และมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วการนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขาส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิดและถือเป็นท่านั่งที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรนั่งจนคุ้นชินติดเป็นนิสัยเพราะทำให้ร่างกายเสี่ยงอันตรายได้
Table of Contents
ปัญหาที่เกิดอาจเกิดได้จากการนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา
1. ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยโดยเฉพาะบริเวณหลัง
การนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา จะทำให้ร่างกายของคนเราอยู่ในท่าทาง (Posture) ที่ไม่เหมาะสม เมื่อนั่งติดกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ใบหน้าจะยื่นออกไปด้านหน้า ไหล่จะไม่เท่ากัน สะโพกจะเคลื่อนตัวอยู่ในท่าที่เทน้ำหนักลงไปที่ก้นมากกว่าปกติ โดยที่น้ำหนักกดทับจะเทไปยังบริเวณก้นข้างใดข้างหนึ่ง จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีประวัติปวดหลังเป็นประจำ จะยิ่งมีโอกาสปวดหลังมากขึ้นเมื่อนั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา
2.ทำให้เกิดอาการข้อเท้าตก
เวลาที่นั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา เข่าข้างหนึ่งจะถูกยกขึ้นไปวางทับบนเข่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการกดทับติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อเส้นประสาทพีโรเนียล (Peroneal Nerve) ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างของกระดูกข้อเข่าด้านนอก จะทำให้เกิดภาวะข้อเท้าตก หรือ Foot Drop โดยจะมีอาการอ่อนแรง ยกเท้า หรือ กระดกข้อเท้าไม่ได้ เวลาเดินจึงต้องงอสะโพกมากขึ้น ภาวะข้อเท้าตกส่วนใหญ่จะเป็นแบบชั่วคราว คือเป็นการบาดเจ็บแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งและหายไปเองได้ แต่หากมีการนั่งไขว่ห้างนาน ๆ เป็นประจำ จนเส้นประสาทถูกกดทับรุนแรง ก็อาจมีอาการชา อ่อนแรงมาก จนรบกวนการใช้ชีวิต และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นจากปลายเท้าที่ตก
3. ทำให้ความดันขึ้นสูง
เวลาที่เรานั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา เนื่องจากบริเวณด้านหลังของเข่าจะมีเส้นเลือดใหญ่อยู่ เมื่อถูกกดทับนาน ๆ จึงส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้สูงจนถึงขั้นทำให้เกิดอันตราย แต่ก็อาจทำให้การวัดค่าความดันขณะวัดความดันมีความผิดพลาด และก่อให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยโรคได้เช่นกัน หรืออาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน จนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้
อาการสำคัญ ! สัญญาณเตือนจากการนั่งไขว่ห้าง
อาการเตือนจากการนั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขานานเกินไปจนเป็นนิสัย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวด โดยบริเวณที่ปวดหลัก ๆ ได้แก่ ช่วงหลังส่วนล่าง เพราะท่านั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขาจะใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อส่วนหลังมากที่สุด นอกจากนั้นก็จะมีอาการเจ็บบริเวณก้น เพราะมีแรงกดทับบริเวณก้นโดยตรงมากขึ้น โดยอาการสำคัญที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรได้รับการปรึกษาแพทย์ ได้แก่
- ปวดหลังต่อเนื่องนานหลายวัน ไม่หายภายใน 1-2 วัน พักผ่อนแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีสาเหตุของอาการปวดอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่
- มีอาการชาร่วมกับการปวดหลัง พบอาการร้าวลงขา หรือหากนั่งไขว่ห้างแล้วมีอาการชาที่บริเวณหน้าแข้ง หรือหลังเท้า จะแสดงถึงภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ รวมถึงมีภาวะข้อเท้าอ่อนแรง กระดกข้อเท้าไม่ได้ เดินสะดุด ฯลฯ หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร ? ให้นั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขาได้ปลอดภัยมากขึ้น
แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการนั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขาได้มากขึ้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ใช้ท่ายืดขาแล้วไขว้กันแทนการนั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขา แบบยกขาข้างหนึ่งขึ้นมาทับหัวเข่าอีกข้างหนึ่ง เพราะเป็นท่าที่ไม่ได้ทำให้สะโพกเสียสมดุลมากเท่ากับการนั่งไขว่ห้างแบบยกขา
- ไม่ว่าจะนั่งด้วยท่าไขว่ห้าง หรือไขว้ขาแบบไหน ก็ไม่ควรนั่งติดต่อกันด้วยท่านั้นนาน ๆ
ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง - หากจำเป็นต้องนั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขา จริง ๆ ควรสลับข้างทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้ขาข้างหนึ่งข้างใดถูกกดทับจนเสียสมดุลเป็นเวลานาน ๆ เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดการกดทับเส้นประสาทได้บ้าง แต่ก็ยังถือว่าไม่ใช่ท่านั่งที่ถูกต้องอยู่ดี
- หมั่นยืดและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core Muscles) เช่น ทำกายบริหารในท่าแพลงก์ (Plank) ท่าซิทอัพต่าง ๆ (Sit Up) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อในส่วนที่ต้องทำงานหนักเมื่อนั่งอยู่ในท่าไขว่ห้าง ไขว้ขา ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น อาการข้างเคียงต่าง ๆ จากการนั่งไขว่ห้างก็จะลดน้อยลง
การนั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขา ถือเป็นท่านั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย แม้การยืดกล้ามเนื้อ บริหารร่างกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงการสลับท่านั่งบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการนั่งไขว่ห้างได้ แต่คำแนะนำที่ดีที่สุด ก็คือการนั่งในท่าทางที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ยิ่งหากเราต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน การปรับพฤติกรรมตัวเอง จัดท่าทางในการนั่งให้ถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เรานั่งทำงานได้อย่างสบายกาย สบายใจ ไม่เสี่ยงภัยกับอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง และภาวะผิดปกติอื่น ๆ