ชวนคุณแม่ลูกอ่อนมาอ่าน … ทำไมถึงชอบปวดข้อมือตอนมีน้อง
อาการเจ็บข้อมือในบรรดาคุณแม่มือใหม่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคุณแม่คนไหนกำลังเจอปัญหานี้อย่าพึ่งวิตกกังวลเกินไป ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่กำลังเจอกับเรื่องนี้อยู่ เพราะอาการนี้เป็นปัญหาที่มักพบได้สำหรับคุณแม่ที่พึ่งมีลูกเล็ก ต้นตอของปัญหาอาจเกิดได้จากหลายอย่าง วันนี้เราจะมาดูกันว่าอาการเจ็บปวดข้อมือจะเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างไรกันบ้าง
1. ภาวะเส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดเบียด (Carpal Tunnel Syndrome)
หากมีอาการปวดข้อมือแล้วมีอาการชาร่วมด้วย นั่นคืออาการปวดที่เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เอ็น และเนื้อเยื่อในข้อมือบวมและไปเบียดเส้นประสาทเข้ากับพังผืดที่อยู่ใกล้ๆกัน บ้างจึงเรียกว่าพังผืดทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการชาคล้ายเป็นเหน็บ รู้สึกปวดตื้อๆ ที่มือ บางคนอาจรู้สึกเหมือนโดนไฟดูด หรือมีความรู้สึกแสบร้อนเกิดขึ้นเป็นระยะ อาการเหล่านี้ไม่สามารถชี้จุดที่ปวดให้เจาะจงเหมือนอาการปวดมือจากสาเหตุอื่น ลักษณะการปวดแบบนี้เป็นการปวดจากเส้นประสาท (Neuropathic Pain) นั่นเอง ในช่วงเริ่มแรกอาการมักมาหาในช่วงกลางคืน หรือตอนเช้าหลังตื่นนอนใหม่ หากเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการระหว่างวันหรือเป็นตลอดเวลาเลยก็ได้
วิธีการป้องกัน
เนื่องจากการให้ยาคุณแม่ทั้งตอนที่กำลังตั้งครรภ์หรือหลังคลอดล้วนเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้รักษาด้วยการให้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าสาเหตุของภาวะนี้เป็นเรื่องของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในการตั้งครรภ์ จึงไม่สามารถรักษาได้โดยตรง แต่คุณแม่สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ไปซ้ำเติมภาวะนี้ ซึ่งก็คือการงอข้อมือเป็นเวลานานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เขียนหนังสือ ขับรถติดต่อกันนาน หรือการใช้แรงมือมากๆ เช่น การถือของหนักๆ คุณแม่อาจจะต้องสังเกตตัวเองว่ากิจกรรมอะไรที่เราทำแล้วมักมีอาการ ให้พัก และหลีกเลี่ยงจากกิจกรรมนั้นๆเพื่อลดปัจจัยที่มาซ้ำเติมโรค
2. เอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis)
อาการเอ็นข้อมืออักเสบจะเกิดขึ้นหลังจากที่คลอดเจ้าตัวเล็กแล้ว และคุณแม่ต้องอุ้มหรือยกตัวลูกน้อยในท่าต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เส้นเอ็นที่ข้อมือบวมและอักเสบ ยิ่งคุณแม่ที่ไม่มีผู้ช่วยเลี้ยงด้วยแล้ว ยิ่งต้องคอยอุ้มลูกเองเป็นเวลานานๆ ก็ยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้นได้ หรือต่อให้มีผู้ช่วย แต่ไม่รู้วิธีการอุ้มที่ถูกต้อง อาการดังกล่าวก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
วิธีการป้องกัน
สำหรับอาการบาดเจ็บนี้แก้ไขได้ไม่ยาก หากเพียงแต่รู้วิธี และเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ยังอาการไม่มาก คุณแม่ต้องเปลี่ยนท่าในการอุ้มลูก เนื่องจากส่วนมากคุณแม่มักอุ้มลูกด้วยการใช้ร่องระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้งสอดช้อนใต้รักแร้ลูกและอุ้มขึ้นมา ซึ่งเป็นท่าที่เสี่ยงจะทำให้เส้นเอ็นบาดเจ็บ และอักเสบมากขึ้น โดยแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ท่าหงายมือช้อนก้นในท่าที่ลูกกำลังนอนหงายและใช้ท่อนแขนสอดประคองหลังและศีรษะขึ้นมา ถ้าหากมีผู้ช่วยเลี้ยง เช่น สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ อาจแบ่งกันสลับกันอุ้ม นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมอื่นที่ต้องใช้มือหรือข้อมือทำกิจกรรมหนักๆ เพื่อเป็นการถนอมรักษาข้อมือของเราไว้
วิธีการรักษา
หากป้องกันอย่างเต็มที่แล้วยังเกิดอาการขึ้น ควรเริ่มรักษาด้วยตนเองเบื้องต้นอย่างง่ายๆ จะได้ไม่เป็นเรื้อรัง ด้วยการลดการใช้งานมือข้างนั้น และแช่น้ำอุ่นสัก 10-15 นาทีต่อวัน จากนั้นพยุงข้อมือด้วยอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านต่างๆ เพื่อให้ข้อมือได้พักอย่างเต็มที่ พักจนกว่าจะรู้สึกดีแล้วจึงค่อยๆ เริ่มใช้งานข้อมือ หากยังเกิดเจ็บขึ้นมาอีกหรือดูแลด้วยตัวเองแบบนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ ด้านมือและข้อมือ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและแนะนำการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นการให้ยาที่แพทย์จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และปลอดภัยต่อคุณแม่ ยาที่ใช้จะเป็นยากลุ่มลดบวม และอาการอักเสบของเส้นเอ็น มีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด ซึ่งให้ผลดีในการรักษาในคุณแม่กลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงมาก หรือหายดี ในบางรายที่มีอาการมากแม้รักษาไปแล้วก็สามารถให้การรักษาที่ต้นเหตุโดยการผ่าตัดเล็กๆได้เช่นกัน