บทความ /

รักษาอย่างไร? เมื่อเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด

เอ็นหัวไหล่ฉีก

เอ็นหัวไหล่ฉีกเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อยกับผู้สูงอายุ หรือนักกีฬา ส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานร่างกายได้อย่างเต็มที่ จึงสร้างความลำบากไม่น้อยในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติที่หัวไหล่ เช่น ปวดเวลานอนทับ หรือปวดติดต่อกันหลายวัน ควรให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด พร้อมอธิบายสาเหตุ อาการ รวมถึงวิธีการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม

ภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด เกิดจากอะไร

เอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator Cuff Tear) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากปัญหาเอ็นข้อไหล่เสื่อมสภาพ อุบัติเหตุ หรือปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้บริเวณไหล่รู้สึกเจ็บหรือปวด และไม่สามารถใช้งานส่วนแขนหรือไหล่ได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะเข้าใจอาการดังกล่าว จึงควรทำความรู้จักต้นตอหรือสาเหตุของโรคชนิดนี้ก่อน ซึ่งมีดังนี้

เอ็นข้อไหล่เสื่อมสภาพ

เอ็นข้อไหล่เสื่อมสภาพ

สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งรวมไปถึงอาการเอ็นหัวไหล่ฉีก เนื่องจากปัญหาเอ็นข้อไหล่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ตามมาอย่างหินปูนเกาะข้อไหล่ ซึ่งสะสมอยู่ตามกระดูกจนกระทั่งเกิดการเสียดสีกับเอ็นข้อไหล่ ส่งผลให้เอ็นหัวไหล่ขาดได้

นอกจากนี้ บางพฤติกรรมที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อในร่างกายอ่อนแอลง เช่น การสูบบุหรี่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เอ็นบริเวณข้อไหล่เสื่อมสภาพได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดได้เช่นกัน 

ใช้งานเอ็นข้อไหล่อย่างหนักหน่วงเป็นเวลานาน

นอกจากผู้สูงอายุแล้ว นักกีฬาหรือผู้ที่ใช้ร่างกายอย่างหักโหม ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาเทนนิสหรือนักแบดมินตัน ที่ต้องใช้บริเวณหัวไหล่เป็นจุดหมุนส่งแรงเพื่อตีลูกออกไป ส่งผลให้เอ็นข้อไหล่เสื่อมสภาพได้ไวมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกในที่สุด

ได้รับบาดเจ็บอย่างร้ายแรง

การเกิดอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน หรือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการล้ม เมื่ออยู่ในท่าทางที่แขนเหยียดค้ำกับพื้น หรือการล้มไหล่กระแทกของแข็งอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ผู้รักษาประตูในกีฬาฟุตบอล หรือการล้มกระแทกพื้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เอ็นหัวไหล่อักเสบได้ หากปล่อยอาการบาดเจ็บทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดตามมาได้ นอกจากนี้ ในกรณีของเด็กเล็กที่อวัยวะในร่างกายยังไม่เติมโตเต็มที่ การประสบอุบัติเหตุก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

อาการเอ็นหัวไหล่ฉีกมีอะไรบ้าง

อาการเอ็นหัวไหล่ฉีกมีอะไรบ้าง

เมื่อรู้ว่าเอ็นหัวไหล่ฉีกมีสาเหตุมาจากอะไร ให้มาดูกันต่อว่าเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดจะมีอาการอะไรบ้าง เพื่อที่ทุกคนจะได้สังเกตตัวเอง และสามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • เจ็บปวดช่วงแขนโดยเฉพาะส่วนของไหล่ เช่น รู้สึกปวดตอนกลางคืน เมื่อนอนตะแคงทับแขนข้างที่มีอาการ และอาจมีอาการปวดในบริเวณใกล้เคียง เช่น คอ สะบัก หรือปวดลามไปช่วงแขน
  • มีอาการหัวไหล่ติดยึด ไม่สามารถขยับไหล่ได้เต็มที่
  • ยกแขนหรือยืดแขนแล้วรู้สึกปวด มีอาการข้อติดอยู่ตลอดเวลา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถยกของหรือถือของได้
  • ไหล่แข็งเกร็ง ไม่สามารถขยับเขยื้อนไหล่ได้ตามใจชอบ

เนื่องจากอาการปวดที่มีสาเหตุมาจากเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และระดับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นไม่สามารถบ่งชี้ความรุนแรงของการฉีกขาดได้ กล่าวคือ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกเจ็บปวดมาก แต่เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดไม่รุนแรง และในทางกลับกัน บางรายอาจรู้สึกเจ็บปวดเล็กน้อย แต่เส้นเอ็นบาดเจ็บรุนแรงได้

ปวดเพราะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด VS ปวดเพราะออกกำลังกาย แตกต่างกันอย่างไร?

หลังการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าที่ทำเป็นปกติ หลายๆ คนอาจรู้สึกปวดหรือล้าบริเวณกล้ามเนื้อได้ ซึ่งอาการปวดนี้ จะเรียกว่า DOMS (Delayed Onset Muscle Soreness) มีสาเหตุมาจากการอักเสบ เพราะเนื้อเยื่อของเซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลายในการออกกำลังกาย โดยปกติอาการเหล่านี้จะทุเลาลงในระยะเวลาราว 3-4 วัน

แต่หลังจากผ่านไปนานกว่านั้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายได้ รวมถึง หากมีอาการปวดหัวไหล่เวลานอนทับ หรือปวดบริเวณคอ สะบัก และปวดลามไปถึงต้นแขนร่วมด้วย จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเกิดภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดหรือไม่

เพื่อวินิจฉัยอาการเอ็นหัวไหล่ฉีก

แพทย์ทำสิ่งใดบ้าง เพื่อวินิจฉัยอาการเอ็นหัวไหล่ฉีก

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวดร้ายแรงจากอาการเอ็นหัวไหล่ฉีก แนะนำให้รีบพบแพทย์ให้ไวจะดีที่สุด เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที โดยทางแพทย์จะหาสาเหตุของอาการดังกล่าว และวางโปรแกรมการรักษาตามความเหมาะสมร่วมกับผู้ป่วย ด้วยขั้นตอนดังนี้

  • ซักประวัติ: สอบถามข้อมูลของผู้ป่วยในเบื้องต้น เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนหน้านี้ ระยะเวลา หรือบริเวณที่รู้สึกเจ็บปวด
  • ตรวจร่างกาย: โดยปกติจะมีการตรวจพื้นฐาน เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง อุณหภูมิร่างกาย และความดันโลหิต เป็นต้น และจะมีการตรวจอื่นๆ เพื่อประเมินพยาธิสภาพของข้อไหล่ และอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้อง เช่น การดูรอยช้ำ การให้ผู้ป่วยออกแรงต้านแรงของแพทย์ การดูองศาการเคลื่อนไหวหรือการขยับของข้อไหล่ การตรวจว่ากล้ามเนื้อบริเวณสะบักมีการอักเสบหรือตึง เป็นต้น
  • เอกซเรย์ (X-ray): เป็นการประเมินเพิ่มเติม เพื่อดูความสมดุลของข้อไหล่ หรือตรวจเช็กว่าผู้ป่วยมีอาการกระดูกหักร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึง ตรวจว่าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหินปูนที่ข้อไหล่หรือไม่ ทั้งนี้ การเอกซเรย์จะไม่สามารถมองเห็นเส้นเอ็นได้
  • MRI (Magnetic Resonance Imaging): เป็นการนำเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้ในการตรวจสอบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และข้อไหล่ เพื่อให้ได้ข้อมูล และรายละเอียดมากขึ้น เพื่อประเมินการบาดเจ็บ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

วิธีรักษาอาการเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด

หลังจากที่ตรวจสอบและวินิจฉัยอาการเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการรักษาด้วยการใช้ยาและวิธีอื่นๆ โดยแพทย์จะวางโปรแกรมการรักษาร่วมกับผู้ป่วย และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน เพื่อที่จะช่วยให้อาการบาดเจ็บหรือปวดเหล่านี้หมดไป ด้วยรูปแบบการรักษาดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน

หากเป็นผู้ป่วยที่เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดไม่รุนแรง เบื้องต้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ก่อน โดยการลดกิจกรรมที่ต้องใช้งานส่วนไหล่ เช่น การเอื้อมมือเหนือศีรษะ หรือการยกของหนัก เพื่อไม่ให้เกิดอาการฉีกขาดและเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อลุกลาม 

การใช้ยา

ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแขนหรือไหล่อยู่ และไม่สามารถใช้งานส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่ แพทย์จะแนะนำให้ทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแก้อักเสบลดบวม หรือยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึง การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น เพื่อลดระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เพื่อจะทำให้ยาออกฤทธิ์รักษาอาการเอ็นหัวไหล่ฉีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรับประทานยา และปรับพฤติกรรมแล้ว แต่ยังมีอาการปวดอยู่ ทางแพทย์อาจพิจารณาเป็นการฉีดยา เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด และการอักเสบแทน

กายภาพบำบัด

สำหรับผู้ป่วยที่เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดในกรณีที่ไม่รุนแรง อาจจะสามารถรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดได้ เนื่องจากกายภาพบำบัดมีส่วนช่วยลดอาการปวด และช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้เลเซอร์อัลตราซาวนด์ (Laser Ultrasound) หรือ การบำบัดด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy) ในการรักษา 

การผ่าตัดหีวไหล่ฉีก

การผ่าตัด

การรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดด้วยการผ่าตัด นิยมใช้ในกรณีที่เมื่อแพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุ และพบว่าเป็นเส้นเอ็นมีการฉีกขาดรุนแรง หรือผู้ป่วยยังมีอาการปวดไหล่รุนแรงอยู่ หลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใช้งานไหล่อย่างหนัก ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือผู้ที่มีหินปูนที่ข้อไหล่ 

โดยในการรักษาจะซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ฉีกขาด หรือเชื่อมต่อเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกให้ยึดติดเข้ากับกระดูกเหมือนเดิม ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Rotator Cuff Repair) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดโดยนำกล้องขนาดเล็กใส่เข้าไปบันทึกภาพในร่างกาย จากนั้นจึงทำการผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดดังกล่าว คือ มีแผลขนาดเล็ก จึงทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน จากนั้นจึงทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อาการบาดเจ็บหายสนิทดี ประมาณ 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการฟื้นฟูของผู้ป่วย

อาการเอ็นหัวไหล่ฉีก หากปล่อยโดยไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น

อาการบาดเจ็บหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมไม่เป็นผลต่อผู้ป่วยแน่นอน ซึ่งอาการเอ็นหัวไหล่ฉีกก็เช่นกัน ถ้าไม่ทำการรักษาโดยทันที นอกจากอาการปวดรุนแรง หรือมีโอกาสที่ความเสียหายของเส้นเอ็นหัวไหล่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น 

  • ข้อไหล่ไม่สมดุล: หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้ข้อไหล่ขาดความสมดุล เช่น กระดูกไหล่เคลื่อนตัวขึ้นด้านบน ทำให้ไม่สามารถใช้งานข้อไหล่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึง อาจทำให้เกิดข้อเสื่อมตามมาได้
  • ข้อไหล่เสื่อม: เ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด และไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้งานข้อไหล่ได้อย่างเป็นปกติ

เอ็นหัวไหล่ฉีกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดมีอาการเจ็บหรือปวดร้ายแรง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดกับกลุ่มนักกีฬา เช่น นักแบดมินตัน หรือนักฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตู เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้งานหัวไหล่ในท่าเดิมอย่างหนัก และเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติล้มไหล่กระแทกพื้นได้ ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติที่หัวไหล่จึงควรเข้ารับการรักษากับแพทย์โดยทันที ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวินิจฉัยและให้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยารักษา ทำกายภาพบำบัด จนไปถึงการผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุข

บทความโดย : นพ. นวพันธ์ วอกลาง ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่

จันทร์, 12 ก.ย. 2022
แท็ก
เอ็นไหล่ฉีกขาด
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บ เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด (ACL Injury) หรือโรคเกี่ยวกับข้อเข่าอื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 245,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
ผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ เพื่อรักษาอาการเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear), ข้อไหล่เสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับข้อไหล่อื่นๆ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่...
package 275,000* บาท
package สิ้นสุด 30/06/2024
บทความอื่นๆ
เอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ
ทำความรู้จักกับเอ็นหมุนหัวไหล่อักเสบ พร้อมแนวทางการรักษา
เอ็นหัวไหล่ฉีก
รักษาอย่างไร? เมื่อเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
ไหล่หลุด
ภาวะข้อไหล่หลุด สาเหตุคืออะไร? แก้ได้ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี
ข้อไหล่เสื่อม โรคข้อใกล้ตัวที่ควรรู้เท่าทัน
top line

Login