โรคเท้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น
เมื่อสูงวัยขึ้น กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อบริเวณเท้าก็ไม่ต่างจากอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่เสื่อมลงตามวัย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บในตำแหน่งต่างๆของเท้าและข้อเท้าได้ เช่นมีอาการเจ็บส้นเท้าจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ เจ็บบริเวณอุ้งเท้าจากโรคเท้าแบน หรือนิ้วหัวแม่เท้าเกเข้าด้านในทำให้ปวดเท้า ยิ่งหากเป็นโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ก็อาจจะเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้
Table of Contents
โรคเท้าแบน
โรคเท้าแบน : การไม่มีอุ้งเท้าด้านใน ปลายเท้าบิดออกนอก ในรายที่เท้าแบนมากหรือใช้งานมากจะเจ็บเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้า ทำให้เดินได้ไม่ไกลและไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
การดูแลรักษา : ช่วงที่มีอาการเจ็บแนะนำพักการใช้งานหรือใช้เท่าที่จำเป็นและใส่รองเท้าที่มีอุ้งเท้าหรือแผ่นรองเท้าที่มีอุ้งเท้า
โรครองช้ำ
รองช้ำ : เกิดจากเส้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ มักมีอาการเจ็บเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า แล้วลุกมายืนหรือเดินก้าวแรกๆ
การดูแลรักษา : หลีกเลี่ยงการเดินระยะทางไกล แนะนำให้เดินใส่รองเท้าตลอดเวลา พื้นรองเท้าควรมีลักษณะนุ่มรับน้ำหนักได้ดี หมั่นยืดเหยียดเส้นเอ็นร้อยหวายและนวดพังผืดฝ่าเท้าอยู่เสมอ
โรคเส้นเอ็นร้อยหวายตึง
เส้นร้อยหวายตึง ไม่ยืดหยุ่น : จะมีอาการเจ็บบริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย หรือจุดเกาะเอ็นร้อยหวายบริเวณส้นเท้า
การดูแลรักษา : หากมีอาการเจ็บแนะนำให้พักการใช้งาน รับประทานยาลดอักเสบ หมั่นยืดเส้นเอ็นร้อยหวายอยู่เสมอ เพื่อให้เส้นเอ็นยืดหยุ่นใช้งานได้ดีและไม่มีอาการเจ็บ
โรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง
กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง : การที่ปลายนิ้วโป้งเท้าเอียงเข้าด้านใน โคนนิ้วโป้งเท้านูนออก ทำให้เกิดการเสียดสีกับรองเท้าเจ็บเวลาใส่รองเท้า บางรายที่เป็นมากนิ้วโป้งอาจไขว้กับนิ้วที่ 2 อาจเกิดเป็นแผลได้
การดูแลรักษา : เลือกใส่รองเท้าหน้ากว้างเพื่อลดการเสียดสี หมั่นบริหารนิ้วให้มีความยืดหยุ่น ดูแลความสะอาดบริเวณง่ามนิ้วอยู่เสมอ