กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงคืออะไร? ทำไมมักพบในผู้หญิง พร้อมวิธีรักษาที่ควรรู้

นิ้วโป้งเท้าเอียง

“ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง” เป็นความผิดปกติทางร่างกายที่หลายคนไม่ค่อยรู้จักมากนัก แต่ก็ถือว่าพบได้บ่อย โดยสามารถพบได้สูงถึงประมาณ 10-15% ในประชาชนทั่วไป และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 เท่า แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รู้แนวทางในการดูแลรักษา ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่บริเวณโคนนิ้วโป้งเท้า จนเดินได้ไม่ถนัด และรบกวนประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ 

ดังนั้น บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงว่ามีอาการอย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถสังเกตตัวเองได้ รวมถึง วิธีการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง 

กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงคืออะไร

กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงคืออะไร

กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง (Hallux Valgus) เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกตรงกลางนิ้วโป้งเท้าเอียงเข้า และกระดูกปลายนิ้วโป้งเท้าเอียงออก จนทำให้เกิดบริเวณที่นูนขึ้นมาตรงโคนนิ้วโป้งเท้า ซึ่งเมื่อไปชนกับผนังรองเท้าหรือเดินเสียดสีกัน อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้ ทั้งนี้ กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง คือ โรคที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด และจะเริ่มสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงอายุประมาณ 8-9 ขวบ โดยพ่อแม่จะสังเกตเห็นว่านิ้วโป้งเท้าของลูกจะมีลักษณะเอียงไม่เหมือนนิ้วโป้งเท้าของเด็กปกติ และเข้ามาขอคำปรึกษาจากแพทย์ 

กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงเป็นโรคที่ส่งต่อกันทางกรรมพันธุ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้ส่งตรงจากพ่อแม่ถึงลูก 100% แต่ก็มักส่งผ่านกันในระดับญาติผู้หญิงในครอบครัว เช่น ถ้าในครอบครัวมีคุณแม่ และคุณป้าเป็น ลูกสาวหรือหลานสาวก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ 

นอกจากนั้นแล้ว โรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง ยังสัมพันธ์กับโรคเท้าแบนอีกด้วย โดยพบว่าคนที่เป็นโรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงก็มักมีโอกาสเป็นโรคเท้าแบนร่วมด้วย ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงแค่เพียงบางเคสเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีภาวะเท้าแบน หรือนิ้วโป้งเท้าเอียงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

มีอาการอย่างไร? เมื่อกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

มีอาการอย่างไร? เมื่อกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

โดยปกติแล้วเราสามารถสังเกตเห็นภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งถ้ามาปรึกษาแพทย์โดยที่ยังไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอียงมากขึ้นจนนำไปสู่อาการเจ็บปวดตามมาได้ ส่วนในรายที่มีอาการเริ่มต้นนั้น มักจะเป็นอาการเจ็บจากการที่โคนนิ้วโป้งนูนจนไปเสียดสีกับรองเท้าเวลาเดิน ซึ่งภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงนี้จะทำให้หน้าเท้าของผู้ป่วยกว้างกว่าคนปกติ และใส่รองเท้าหน้าแคบไม่ได้ เพราะยิ่งใส่รองเท้าหน้าแคบก็จะยิ่งบีบรัดทำให้เกิดการเสียดสีจนเจ็บมากขึ้นเวลาเดิน หรือสำหรับผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เพราะยิ่งส้นสูงก็ยิ่งกดน้ำหนักลงไปที่หน้าเท้า ทำให้โคนนิ้วโป้งที่นูนถูกบีบรัดและชนกับผนังรองเท้ามากขึ้นจนเกิดความเจ็บปวดได้ 

รองเท้าที่แนะนำจึงควรใส่เป็น “Wide Toe Box Shoes” หรือ “รองเท้าหน้ากว้าง” เพื่อลดโอกาสที่ส่วนนิ้วเท้าเสียดสีกับรองเท้าและสร้างความรู้สึกเจ็บปวด เพราะหากปล่อยไว้ หรือไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี นิ้วโป้งเท้าที่เอียงก็จะยิ่งเสียดสี และรู้สึกเจ็บยิ่งขึ้น และอาจเกิดการอักเสบตามมา จนถึงขั้นเจ็บแม้กระทั่งเวลาเดินเท้าเปล่า ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดิน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ รวมถึง หากปล่อยให้นิ้วโป้งเท้าเอียงมากๆ ก็อาจมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้นิ้วโป้งไปไขว้ทับนิ้วชี้ จนเกิดเป็นแผลกดทับ จากการที่เล็บนิ้วโป้งไปจิกบริเวณด้านล่างของนิ้วชี้ได้ด้วย

วินิจฉัยอย่างไร? จึงจะมั่นใจว่ากระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

วินิจฉัยอย่างไร? จึงจะมั่นใจว่ากระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

ในการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง จะมีขั้นตอน ดังนี้ 

  • การซักประวัติตรวจร่างกาย ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงเป็นโรคที่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ แค่ถอดรองเท้าให้ตรวจก็สามารถวินิจฉัยได้แล้ว เพราะจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหน้าเท้ากว้างผิดปกติ และนิ้วโป้งเท้าเอียง 
  • การวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อวางแผนแนวทางการรักษา แพทย์จะดำเนินการเอ็กซเรย์คนไข้เพิ่มเติม เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาให้เหมาะสมตามความรุนแรงของโรค เพราะการตรวจด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นกระดูกภายในว่าเอียงรุนแรงมากน้อยแค่ไหน การเอ็กซเรย์จะช่วยทำให้ทราบได้ว่าองศาที่เอียงนั้นมากหรือน้อยเพียงใด อันนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

เมื่อกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง

แนวทางในการรักษาโรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงนั้น แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. รักษาด้วยการไม่ผ่าตัด

รักษาด้วยการไม่ผ่าตัด

การรักษาภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงด้วยการไม่ผ่าตัดเป็นแนวทางที่แพทย์ยึดไว้สำหรับการรักษาเริ่มต้นเสมอ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มักจะมาด้วยอาการเจ็บร่วมกับนิ้วโป้งเท้าเอียง ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยการไม่ต้องผ่าตัด ดังต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนรองเท้า โดยเลือกใส่ Wide Toe Box Shoes หรือรองเท้าหน้ากว้าง มาใส่แทนเพื่อลดการเสียดลงและทำให้เจ็บน้อยลง
  • ใส่ถุงเท้าหนานุ่ม ร่วมกับการใส่รองเท้าหน้ากว้าง เพื่อลดการเสียดสีให้ได้มากที่สุด
  • ทำการดัดนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อนิ้วเกิดความยืดหยุ่น ช่วยลดอาการเจ็บ และลดอัตราที่ทำให้นิ้วเอียงเพิ่มขึ้น ซึ่งการทำกายภาพบำบัดนิ้วโป้งเท้าเอียงด้วยตัวเองนั้น ทำได้ง่ายๆ ด้วยการดัดนิ้วโป้งเท้า 3 ด้าน 3 มุม ได้แก่ ดัดขึ้น ดัดกดลง และดัดดึงอ้าออก โดยทำด้านละ 10 วินาทีค้างไว้ วันละประมาณ 8-10 ครั้ง
  • กินยาลดอักเสบ ตามที่แพทย์จ่ายให้

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด

 การรักษากระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดให้คนไข้ที่มีภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง ก็ต่อเมื่ออาการเจ็บนั้นรบกวนชีวิตประจำวัน และรักษาด้วยวิธีการไม่ต้องผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล กล่าวคือ ไม่ว่าจะกินยา เปลี่ยนรองเท้า หรือทำกายภาพบำบัดแล้วแต่ก็ยังไม่หายเจ็บ หรือมีความรู้สึกเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ 

โดยการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง จะเป็นการผ่าตัดปรับแนวกระดูก โดยปรับแนวทั้งกระดูกส่วนต้นและส่วนปลาย ทำให้นิ้วตรงขึ้น ส่วนนูนที่โคนนิ้วโป้งหายไป หน้าเท้าแคบลง และลดอาการเจ็บปวด  ทั้งนี้ เมื่อผ่าตัดเสร็จจะต้องมีการใส่เหล็กยึดดามกระดูกไว้ภายใน เพื่อให้กระดูกอยู่ในตำแหน่ง และต้องรอให้กระดูกติดใหม่อีกครั้งในตำแหน่งใหม่ หลังผ่าตัดจึงยังไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ในทันที จำเป็นต้องพักฟื้น และงดการเดินก่อนประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้กระดูกติดเรียบร้อยจึงกลับมาเริ่มฝึกเดินได้

กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงเป็นโรคที่แม้จะไม่มีอาการเจ็บปวดจนรบกวนชีวิต แต่ผู้ป่วยควรต้องดูแลอย่างถูกต้อง เพื่อให้นิ้วโป้งเท้าไม่เอียงไปมากกว่าเดิม และเกิดอาการบาดเจ็บจนรบกวนคุณภาพชีวิตตามมา ดังนั้น หากสังเกตพบลักษณะนิ้วโป้งเท้าของตัวเองว่าเอียงผิดปกติ หน้าเท้ากว้าง และไม่สามารถใส่รองเท้าปกติได้เหมือนคนทั่วไป มีอาการเจ็บเมื่อใส่รองเท้าแล้วเดิน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับคำแนะนำแนวทางในการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้นและรบกวนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย หรือชื่นชอบการใส่รองเท้าส้นสูง และรองเท้าหน้าแคบแบบแฟชั่น ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้นิ้วโป้งเท้าเอียงหนักขึ้นและเจ็บปวดมากขึ้นได้

บทความโดย : นพ.กรกช ธรรมผ่องศรี ศัลยแพทย์ชำนาญด้านเท้า ข้อเท้า และเวชศาสตร์การกีฬาและข้อไหล่

พฤหัส, 22 ธ.ค. 2022

แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นๆ
ปวดส้นเท้าเสี่ยงเป็นโรคอะไร
รู้ไหม? เมื่อปวดส้นเท้า เราเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
นิ้วโป้งเท้าเอียง
กระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงคืออะไร? ทำไมมักพบในผู้หญิง พร้อมวิธีรักษาที่ควรรู้
เป็นโรครองช้ำ รักษาอย่างไรดี ?
โรคเท้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น
top line

Login